วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

อุทกภัยร้ายแรง ปี 2554

 อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 เป็นอุทกภัยที่เกิดขึ้นช่วงเดือนกลางเดือนกรกฎาคมถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดผลกระทบในทุกภาคของประเทศ

สาเหตุ

การที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากพายุหมุนนกเตน พายุไต้ฝุ่นหมุ่ยฟ้า พายุไต้ฝุ่นนันมาดอลและพายุไต้ฝุ่นตาลัส พายุดีเปรสชั่นไหหม่า ส่งผลให้ฝนตกหนักและมีลมกรรโชกแรง

ภาคเหนือ

จังหวัดที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมได้แก่

พะเยา

วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 สถานที่ราชการกว่า 10 องค์กรในศูนย์ราชการอำเภอดอกคำใต้ต้องหยุดให้บริการหลังเกิดน้ำท่วมสูง เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเดินทางเข้าไปทำงานได้ นอกจากนี้ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นได้เข้าท่วมบ้านเรือนมากกว่า 2,000 หลัง ถนนสายพะเยา-เชียงคำถูกน้ำท่วมสูงจนรถไม่สามารถวิ่งผ่านได้ ขณะที่โรงเรียนมากกว่า 6 แห่ง ต้องหยุดการเรียนการสอนอย่างไม่มีกำหนด ด้านหน่วยงานราชการโดยสำนักงานเทศบาลเมืองดอกคำใต้ เร่งให้เจ้าหน้าที่เข้าทำการช่วยเหลือชาวบ้านโดยการขนย้ายสิ่งของ และนำกระสอบทรายเข้าป้องกันบ้านที่ยังไม่ถูกน้ำท่วม

น่าน

วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2554 เสนีย์ จิตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน แจ้งเตือนประชาชนให้อพยพด่วน อำเภอเชียงกลาง อำเภอปัว อำเภอท่าวังผา น้ำจากลำน้ำน่านและลำน้ำสาขาได้แก่ ลำน้ำขว้าง น้ำปัว ไหลเข้าท่วมในพื้นที่ตำบลต่าง ๆ ทำให้บ้านกว่า 1,000 หลังคาเรือนเดือดร้อน ขณะที่ในเขตเทศบาลเมืองน่านน้ำได้เข้าท่วมตามถนนและชุมชนใกล้ลำน้ำน่านแล้ว เช่น ชุมชนบ้านดอนศรีเสริม บ้านพวงพะยอม บ้านภูมินทร์ ท่าลี่ บ้านสวนตาล บ้านดอนแก้ว น้ำได้เข้าท่วม ตามถนนรถเล็กไม่สามารถผ่านได้ นอกจากนั้นน้ำยังเข้าท่วมในเขตอำเภอภูเพียง ถนนระหว่างอำเภอสันติสุขกับอำเภอภูเพียงถูกตัดขาดแล้ว

เชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 16 อำเภอรวมทั้งเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ รวม 77 ตำบล 498 หมู่บ้าน 84,404 ครัวเรือน 138,090 คน พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหาย 22,237 ไร่ ปศุสัตว์ 1,286 ตัว ประมงเสียหาย 95 บ่อ บ้านเรือนเสียหาย 1,557 หลัง ถนนเสียหาย 59 สาย สะพาน 21 แห่ง เหมืองฝาย 103 แห่ง มูลค่าความเสียหายประมาณ 11,357,333 บาท

เชียงราย

อ่างเก็บน้ำห้วยสัก บ้านท่าสุด หมู่ 3 ต.ท่าสุด อ.เมือง ในจังหวัดเชียงราย ฐานดินพังทลาย จนเป็นเหตุให้ต้องซ่อมแซมก่อนที่อ่างเก็บน้ำจะแตกชำรุด ที่ถนนสายแม่สรวย-ดอยวาวี บริเวณหมู่บ้านทุ่งพร้าว หมู่ 8 ต.วาวี อ.แม่สรวยดินพังทลายเป็นทางกว้างประมาณ 100 เมตร และลึกกว่า 20 เมตรทำให้ไม่สามารถสัญจรได้ และต้องทำการซ่อมแซมอีกครั้งภายหลังพึ่งซ่อมแซมมาได้เพียงไม่นาน ส่วนถนนเขตเทศบาลนครเชียงราย เกิดน้ำท่วมขัง จนเป็นเหตุให้โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ต้องนำรถพยาบาลออกมารับผู้แทนเนื่องจากรถยนต์บางคันไม่สามารถเข้ามาถึงภายในโรงพยาบาลได้

อุตรดิตถ์

จังหวัดอุตรดิตถ์ได้รับความเสียหายในพื้นที่ 4 อำเภอ 13 ตำบล 48 หมู่บ้าน ทางหลวงหมายเลข 1146 ช่วงกิโลเมตรที่ 4-5 ได้รับความเสียหายรถยนต์ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ที่อำเภอเมือง พบว่าฝายน้ำล้นชำรุดและท่อลอดเหลี่ยมได้รับความเสียหายหลายจุด ที่อำเภอฟากท่า น้ำป่าไหลเข้าท่วม 2 ตำบล 5 หมู่บ้าน ได้แก่พื้นที่ตำบลฟากท่า และตำบลสองคอน ในเบื้องต้นพบว่าที่ทำการกลุ่มแม่บ้าน ที่ทำการกลุ่มทอผ้า ประปาหมู่บ้าน ได้รับความเสียหายบางส่วน ที่อำเภอน้ำปาด น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร พื้นที่การเกษตร และสิ่งสาธารณประโยชน์ได้รับความเสียหายสะพานข้ามบ้านนาน้ำพราย ตำบลเด่นเหล็ก อำเภอน้ำปาด ชำรุดเสียหาย ในขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ระดับน้ำที่กักเก็บไว้พุ่งสูงถึง 85% อยู่ในภาวะวิกฤติ
เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554 เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มที่บ้านห้วยเดื่อ หมู่ที่ 2 ต.น้ำไผ่ อ.น้ำปาด มีบ้านเรือนถูกพัดพาไปกับน้ำป่า 7 หลัง และทำให้สะพานบ้านห้วยเดื่อขาด เช่นเดียวกับสะพานบ้านต้นขนุน หมู่ที่ 3 ที่อยู่ห่างจากบ้านเดื่อไปประมาณ 5 กิโลเมตร ยานยนต์ทุกชนิดไม่สามารถสัญจรไปมาได้ และน้ำป่าได้พัดบ้านเรือนราษฎรหายไปกับสายน้ำทั้งหมดจำนวน 12 หลัง มีผู้สูญหายจำนวน 7 คน มีผู้บาดเจ็บ 3 ราย รถยนต์ของชาวบ้าน 1 คัน รถไถนาเดินตาม 1 คัน มอเตอร์ไซค์ 1 คัน และรถยนต์ที่ใช้ในราชการของหน่วยพิทักษ์ป่าคลองตรอน 1 คัน รถจักรยานยนต์ของเจ้าหน้าที่อุทยานจำนวน 10 คัน บ้านพักครูโรงเรียนบ้านห้วยคอม หมู่ที่ 4 ต.น้ำไผ่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ถูกน้ำป่าพัดหายไป 1 หลัง ครู 7 ชีวิตวิ่งหนีตายขึ้นภูเขาหลังโรงเรียน และช่วง 2.20 น. น้ำป่าได้พัดพาอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ไปกับกระแสน้ำ

แพร่

จังหวัดแพร่ทั้งจังหวัดมีฝนตกหนักติดต่อกัน 2 วัน 2 คืน ปริมาณน้ำที่ตกลงมามากในพื้นที่ต้นน้ำ ส่งผลให้น้ำป่าทะลักรุนแรง หลายอำเภอไร่นาได้รับความเสียหาย น้ำป่าที่ไหลจากด้านตะวันออกของเขตเทศบาลเมืองแพร่ เข้าท่วมตัวเมือง ทำให้ถนนหลายแห่งและย่านชุมชนประสบปัญหาหนัก ไม่สามารถเข้าออกได้ด้วยรถยนต์ อ.สูงเม่น น้ำแม่มาน น้ำแม่สาย มีน้ำป่าไหลทะลักเข้าท่วมบ้านสบสาย มีระดับสูงถึง 1 เมตร อ.เด่นชัย ลำห้วยแม่พวกซึ่งเป็นลำห้วยขนาดใหญ่ที่สุดของอำเภอ มีน้ำป่าทะลักรุนแรง ท่วมโรเรียนบ้านห้วยไร่
ที่ อ.ลอง น้ำแม่ต้า น้ำป่าทำให้บริเวณทางเข้าสถานีรถไฟบ้านปิน ตัดทางรถไฟ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของการรถไฟได้ส่งพนักงานเข้าซ่อมอย่างรวดเร็วเพื่อให้สามารถใช้การได้ หมู่บ้านสบสาย ต.สบสาย อ.สูงเม่น ต.แม่ปาน อ.ลอง มีน้ำยมทะลักล้นตลิ่งหลายพื้นที่ โดยเฉพาะถนนสายแม่ปาน-อ.ลอง ถนนสายทุ่งแล้งไป อ.ลอง ถนนจากทุ่งแล้งไปบ้านวังเคียน พร้อมทั้งถนนสาย ทุ่งแล้งวังชิ้น น้ำท่วมสูงจนรถยนต์ไม่สามารถผ่านไปมาได้ และที่ ต.ทุ่งแล้ง อ.ลอง หมู่ 1 หมู่ 9 ระดับน้ำบางจุดเข้าท่วมบ้านเรือนกว่า 2 เมตร เจ้าหน้าที่กู้ภัยพานพิทักษ์ อ.ร้องกวาง ออกช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ในบ้านที่น้ำท่วมในลำน้ำแม่คำมี ขณะออกปฏิบัติการ เรือประสบอุบัติเหตุคว่ำ 1 ลำ แต่ไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าว

ลำพูน

ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2554 จ.ลำพูน มีพื้นที่ประสบภัย 4 อำเภอ 23 ตำบล 243 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ 35,001 คน 10,790 ครัวเรือน มีบ้านเรือนราษฎร ตลิ่ง พนังกั้นน้ำ นาข้าวได้รับความเสียหาย

ลำปาง

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางว่า ได้ประกาศให้ทั้งจังหวัด 13 อำเภอ เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน เนื่องจากที่ผ่านมา มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน จำนวน 153,173 คน มีนาข้าวเสียหายมากว่า 30,000 ไร่ และจากการประเมินค่าความเสียหายเบื้องต้น มากกว่า 1 ร้อยล้านบาทวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ได้เกิดเหตุดินถล่มบนถนนสายลำปาง-เด่นชัย หลักกิโลเมตรที่ 38-39 เขตบ้านปางมะโอ หมู่ที่ 8 ตำบลวังเงิน อำเภอแม่ทะ ปิดทับถนนไปครึ่งช่องทาง ทำให้รถที่สัญจรไปมาต้องใช้ความระมัดระวัง

แม่ฮ่องสอน

กำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้สั่งการให้นายอำเภอแม่สะเรียง ทำการอพยพราษฎรบ้านห้วยโผ หมู่ที่ 6 ต.แม่ยวม จำนวน 70 ครอบครัว ไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย หลังพบว่าบริเวณยอดภูเขาสูงมีรอยแยกมากกว่า 10 จุด เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เนื่องจากกลัวภัยจากดินถล่ม หลังจากที่ทางตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย เกิดเหตุดินถล่ม เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย ถนนเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านนาจลองถูกตัดขาด รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ส่งผลให้พื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ลำน้ำปาย ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก ระดับน้ำก็ได้เพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และน้ำได้นำพาเอาเศษไม้และต้นไม้ขนาดเล็กไหลมากับน้ำด้วย โดยชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำ บริเวณลำห้วย มีการขนย้ายข้าวของบางส่วนขึ้นมาอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว และยังคงเฝ้ารอดูสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิด หากว่ายังคงมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องอยู่เกรงว่าระดับน้ำ ก็จะเพิ่มสูงและรุนแรงมากขึ้น ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ อบต.บ้านแม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน หลังบ้านเรือนในพื้นที่ได้รับความเสียหาย 540 หลังคาเรือน และสะพานแม่น้ำเงาขาด ซึ่งศูนย์ดังกล่าวอยู่ไม่ไกลกับสถานที่เกิดเหตุดินถล่มอีกด้วย
นอกจากนี้ แล้วบริเวณที่สถานีทดลองข้าวไร่ ตามโครงการพระราชดำริ บ้านไร่ ต.สบป่อง อ.ปางมะผ้า น้ำป่าจากลำห้วยน้ำรินไหลทะลักอย่างรวดเร็ว เข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ข้าวไร่ ของสถานีได้รับความเสียหายหนัก สายการบินนกแอร์ เที่ยวบิน DD8902 ที่จะเดินทางไปยังท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน นักบินได้ตัดสินใจบินกลับไปยัง ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ ในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต้องอาศัยรถในการเดินทางแทน อำเภอปายน้ำตามลำห้วยต่างๆ ได้ไหลลงสู่แม่น้ำปาย ทำให้แม่น้ำปาย เริ่มเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรบริเวณบ้านทุ่งกองมู และบ้านสบสอย ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ชาวบ้านต้องรีบเก็บผลผลิตทางการเกษตรเพื่อหนีน้ำอย่างเร่งด่วน ในขณะที่บริเวณชุมชนเคหะในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน น้ำป่าไหลหลากเข้ามาท่วม เนื่องจากท่อระบายน้ำมีขนาดเล็กไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน
ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนกล่าวว่า ในพื้นที่อำเภอปาย พื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากพายุหมุนนกเตน ทั้งที่นา ไร่ถั่วเหลือง และถนนสายบ้านแม่ของ หมู่ที่ 5 และบ้านนาจลอง หมู่ที่ 6 ตำบลแม่นาเติง อ.ปาย น้ำท่วมขังไม่สามารถสัญจรไป-มาได้ เนื่องจากถนนสายดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ลุ่ม ทางอำเภอปายได้แจ้งให้ราษฎรใช้เส้นทางอื่นเป็นการชั่วคราวก่อนจนกว่าปริมาณน้ำจะเข้าสู่ปกติ นอกจากนี้ ยังมีรถจักยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าเวฟคันหนึ่ง ถูกกระแสน้ำป่าพัดสูญหาย ส่วนอำเภอแม่สะเรียงเกิดเหตุดินถล่ม นายอำเภอได้สั่งการอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ทันที
เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2554 เกิดเหตุการณ์ภูเขาสไลด์ดินถล่มปิดทับถนนสายแม่ฮ่องสอน-แม่สะเรียง บริเวณบ้านท่าหิมส้ม-บ้านหนองแห้ง ต.เมืองปอน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอนทับทางหลวงแผ่นดิน 108 ยาวนับ 100 เมตร และส่งผลให้ทางแยกเข้า 3 หมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงถูกตัดขาดจากโลกภายนอกกว่า 3 วัน
เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3 ริกเตอร์ เมื่อเวลาประมาณ 00.06 น.ของวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2554 ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ตำบลผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอนไม่พบความเสียหายมีเพียงชาวบ้านตกใจกลัวขวัญเสียเท่านั้น

ภาคกลาง

จังหวัดที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมได้แก่ จังหวัด

กำแพงเพชร

ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมเนื่องจากมีงูเห่าเข้ามาอาศัยอยู่ภายในบ้านโดย นายบุญ เพ็งนนสิน ได้แจ้งเจ้าหน้าที่มาจับงูเห่าภายในบ้านพักของตนเองที่อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชรเหตุเกิดวันที่ 13มิถุนายนพ.ศ.2554

พิจิตร

ที่วัดโรงช้าง จังหวัดพิจิตร ต้นมะกอกป่าได้โค่นลงทับกุฎิพระเป็นเหตุมีพระได้รับบาดเจ็บ ฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับน้ำป่าจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ไหลลงมาแต่ระบายน้ำไม่ทัน จนลำคลองล้นและทะลักเข้าท่วมนาข้าว 5 ตำบล ประกอบไปด้วย ตำบลวังกรด ตำบลลำปะดา ตำบลบางไผ่ ตำบลหอไกร รวม 49 หมู่บ้าน ซึ่งใกล้เก็บเกี่ยว น้ำท่วมสูงเกือบมิดต้นข้าวนับหมื่นไร่
วันที่ 30สิงหาคม พ.ศ.2554 ที่ตำบลบางลาย อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร ถูกน้ำท่วมมาเกือบ 1 เดือนแล้ว และเวลานี้ระดับน้ำก็ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ด้านในหมู่บ้านนั้น บางจุดสูงกว่า 2 เมตร เพราะเป็นพื้นที่ติดกับแม่น้ำและคลอง ซึ่งทางจังหวัดคาดการณ์ว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 3 เดือน สถานการณ์ถึงจะเป็นปกติ รวมไปถึงความเสียหายในพื้นที่เกษตรกรรมที่น่าจะกลับมาเพาะปลูกได้อีกครั้งในช่วงต้นปีหน้า

นครนายก

วันที่ 10กันยายนพ.ศ.2554 จังหวัดนครนายก เกิดฝนตกติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ที่ หมู่ 8 ต.เขาพระ อ.เมือง จ.นครนายก น้ำเข้าท่วมบ้านเรือนกว่า 100 หลัง นายพงษ์สวัสดิ์ ธีระวัฒนกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาพระ จ.นครนายก เปิดเผยว่า น้ำได้เอ่อท่วมจากคลองห้วยทราย และคลองมะนาว ซึ่งเป็นต้นน้ำ มีบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย 100 หลังคาเรือน ระดับน้ำที่ท่วมสูงเฉลี่ย 60 เซ็นติเมตร การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ได้ประสานความช่วยเหลือจากทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครนายก จัดรถแบคโฮมาขุดถนนที่ถูกน้ำท่วมตัดขาดบริเวณหมู่ทึ่ 12 โดยจะใช้เสาคอนกรีตทำสะพานชั่วคราวให้ชาวบ้านใช้บรรเทาความเดือดร้อนไปก่อน ในระยะยาวได้วางแผนเปิดทางน้ำในตำบลจำนวน 12 จุด คาดว่าหากแล้วเสร็จ จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างถาวร นายสัมฤทธิ์ พิจารณา ชาวบ้านม.8 ต.เขาพระ กล่าวว่า น้ำได้สูงเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 01.00 น. จากนั้นน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านไม่สามารถขนย้ายสิ่งของออกมาได้ทัน

อุทัยธานี

น้ำท่วมเมืองอุทัยธานี โดยวันที่ 10กันยายน พ.ศ.2554น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาหนุนเข้าแม่น้ำสะแกกรัง ทำน้ำทะลักเข้าท่วมชุมชนริมแม่น้ำ-โบราณสถานสำคัญของจังหวัดอุทัยธานีแล้ว
สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดอุทัยธานี ที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลเกาะเทโพ ตำบลท่าซุง ได้ขยายวงกว้างท่วมบ้านเรือนชาวบ้านไปแล้วนับพันหลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหายไปนับหมื่นไร่ จนทำให้ทางจังหวัด ต้องประกาศให้เป็นพื้นประสบภัยพิบัติฉุกเฉินไปแล้ว
ล่าสุดปริมาณในแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณเกาะคุ้งสำเภา ตำบลท่าซุง อำเภอเมือง ได้หนุนย้อนเข้าไปในแม่น้ำสะแกรัง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำสะแกกรังมีระดับสูงขึ้นวันละ 10 -15 ซม. บางจุดน้ำได้เอ่อล้นตลิ่งโดยเฉพาะชุมชนหน้าวัดพิชัยฯ น้ำได้ทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรังไปกว่า 20 หลังเรือน โดมีระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ชาวบ้านต้องขึ้นไปอาศัยอยู่บนชั้น 2 ของบ้าน หลายบ้านต้องอพยพไปอยู่บนพื้นที่สูงด้านหน้าวัดพิชัยฯ ซึ่งทางเทศบาลเมืองจัดเต็นท์ไว้ให้ ส่วนชาวแพทั้ง 2 ฝั่ง ที่อาศัยอยู่ก็ต้องเร่งชักแพเข้าฝั่งป้องกันแพหลุดตามไปกลับกระแสน้ำ
นอกจากนี้น้ำในแม่น้ำสะแกกรัง ยังได้เอ่อล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมโบราณสถานสำคัญ คือ มณฑปแปดแหลี่ยม ติดกับพระอุโบสถวัดโบสถ์ หรือวัดอุโบสถาราม ที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย -รัตนโกสินทร์ตอนต้น สูงประมาณ 50 ซม. คาดว่า ถ้าระดับน้ำสูงขึ้นอย่างนี้เรื่อยๆ ก็จะส่งผลให้ทะลักเข้าท่วมพระอุโบสถดังกล่าวที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากร และเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง ของจังหวัดอุทัยธานี อย่างแน่นอน

พิษณุโลก

ที่อำเภอชาติตระการ กว่า 3 หมู่บ้าน ถนนถูกตัดขาดหลายสาย และปริมาณน้ำยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เร่งส่งเรือท้องแบน จำนวน 3 ลำ เข้าพื้นที่ เตรียมอพยพชาวบ้าน เนื่องจากถนนเส้นทางสายชาติตระการ - บ่อภาค ถูกตัดขาดหลายช่วง ชาวบ้านในหมู่ที่ 3 หมู่ ที่ 4 และ หมู่ที่ 10 ของ ต.บ่อภาค ประชาชนไม่สามารถใช้เส้นทางสัญจรเข้าออกหมู่บ้านได้

ลพบุรี

วันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2554 ที่จังหวัดลพบุรี ภายหลังฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ทำให้น้ำป่าจากภูเขาในเขต อ.พัฒนานิคม ไหลท่วมเขต ต.นิคมสร้างตนเอง ตั้งแต่เช้าวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2554 พื้นที่เกษตรเสียหายเป็นวงกว้าง และน้ำป่ายังทะลักท่วมบ้านเรือน เขต ต.เขาสามยอด ต.ท่าศาลา ต.กกโก อ.เมืองลพบุรี ถนน พหลโยธินบริเวณหน้าห้างคาร์ฟูร์และสี่แยกนิคม ระดับน้ำสูงกว่า 30 ซม.

สมุทรสงคราม

สมุทรสาคร

น้ำได้เข้าท่วมในตลาดสดเทศบาลเมืองกระทุ่มแบนส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียและประชาชนไม่ได้รับความสะดวกรวมถึงปัญหาสุขอนามัยโรคภัยที่มากับน้ำเน่า

 สระบุรี

เมื่อเวลา 18.30 น. วันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2554 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากฝนตกตลอดทั้งวัน ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากท่วมริมถนนมิตรภาพ ระหว่าง กม.ที่ 22-23 หมู่ 5 และ 9 ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี รถยังสามารถวิ่งผ่านได้อย่างช้าๆ หน่วยกู้ภัยสว่างรัตนตรัยธรรมสถาน จุด อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ร่วมกับ กู้ภัยร่วมกตัญญู สระบุรี พร้อมอาสาของอำเภอมวกเหล็ก เจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลมวกเหล็ก ช่วยกันบรรจุทรายใส่ถุงปุ๋ย นำไปวางกั้นกันน้ำป่าที่เริ่มไหลทะลักเข้ามาล้นคลองน้ำที่ไหลผ่านกลางโรงพยาบาล โดยทางพยาบาล เจ้าหน้าที่ ที่เข้าเวร ของโรงพยาบาล อำเภอมวกเหล็ก ต่างเตรียมพร้อมเฝ้าระวังนำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง หากมีปัญหาเกิดขึ้น ได้เตรียมแผนการย้ายผู้ป่วย จำนวน 30 เตียง ไปยังโรงพยาบาล อ.แก่งคอย และโรงพยาบาลสระบุรี ไว้แล้ว หากถึงเวลานั้นจริงๆ จะไปปลุกเจ้าหน้าที่ที่ออกเวรมาช่วยกันขนย้ายผู้ป่วยด้วย ต่อมาเมื่อเวลา 19.30 น. อ่างเก็บน้ำเขารวก ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติน้ำตกสามกลั่น ต.หนองปลาไหล อ. เมือง จ.สระบุรี ขนาดบรรจุน้ำประมาณ 7,500 ลูกบาศก์ เป็นอ่างดิน เกิดแตกทำให้น้ำไหลทะลักลงสู่เบื้องล่าง เบื้องต้นทราบว่า มีบ้านถูกน้ำพัดสูญหายไป 1 หลังคาเรือน มีอีกหลังคาเรือนหนึ่งยังไม่ทราบชะตากรรม กำลังตรวจสอบ เพราะได้แจ้งปิดกระแสไฟฟ้าทั้งหมดในบริเวณน้ำตกสามกลั่นหมดแล้ว ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

สิงห์บุรี

วันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2554นายทวีศักดิ์ นุ่มฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสิงห์บุรี เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสิงห์บุรี ที่ประสบอุทกภัย หยุดการเรียนการสอน พร้อมกันนี้ได้แจ้งเตือนให้ผู้บริหารโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนที่ตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาในเขตอำเภออินทร์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี และอำเภอพรหมบุรี ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่ไหลหลากมาจากจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง จะทำให้ระดับน้ำเจ้าพระยาเหนือเขื่อนเจ้าพระยาสูงจึงต้องระบายลงท้ายเขื่อน ก็ต้องระวังน้ำล้นตลิ่ง จึงขอให้เฝ้าระวังและวางแผนเตรียมการป้องกันขนย้ายทรัพย์สินของโรงเรียนให้ปลอดภัยด้วย
นอกจากนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี และหอสมุดแห่งชาติอินทร์บุรี ได้รับผลกระทบเช่นกันถูกน้ำเข้าท่วม สูงกว่า 60 เซนติเมตร โดยห้องจัดแสดงวัตถุโบราณเก่าแก่สมัยต่างๆอายุหลายร้อยปี เจ้าหน้าที่ต้องขนย้ายวัตถุโบราณไว้บนอาคารชั้น 2 นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปศิลา และใบเสมาสมัยทวาราวดี อายุกว่า 100 ปี ที่ไม่สามารถขนย้ายได้ก็ต้องปล่อยจมน้ำ และต้องปิดให้บริการเป็นการชั่วคราว

สุโขทัย

ระดับน้ำในแม่น้ำยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วสาเหตุจากน้ำเหนือจากจังหวัดแพร่ไหลเข้ามาสมทบประกอบกับภาวะฝนตกหนักในพื้นที่ตลอดวานนี้ที่ผ่านมาจนเป็นเหตุให้เกิดภาวะแม่น้ำยมล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ของจังหวัดสุโขทัย
ทั้งนี้เมื่อเวลา 07.00 น.ของวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2554 ระดับน้ำในแม่น้ำยมที่สูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเต็มทั้งสองฝั่งระดับน้ำสูงขึ้นโดยวัดจากจุดตรวจวัดระดับน้ำของกรมชลประทาน ณ.จุดตรวจวัดสถานี วาย4 ด้านหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ระดับน้ำสูงถึง 7.20 เมตร ทำให้เกิดภาวะแม่น้ำยมล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่หมู่ที่ 1, 2, 4 และ 6 ต.ปากแคว อ.เมือง รวมทั้งระดับน้ำที่เอ่อล้นตลิ่งยังกำลังไหลบ่าเข้าท่วมถนนสายบายพาสรอบเมืองสุโขทัยอีกด้วย โดยระดับน้ำได้ไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนราษฏรหลายจุด รวมทั้งไหลบ่าข้ามถนนสายสุโขทัย ศรีสำโรง ช่วงหน้าที่ทำการประปาและด้านหน้าสถานีไฟฟ้าสุโขทัยระยะทางยาวเกือบ 1 กิโลเมตร ระดับน้ำสูงจากผิวถนน 5060 เซนติเมตร ทำให้รถยนต์เล็กผ่านได้ลำบาก ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนกว่า 100 หลังคาเรือน เช่นเดียวกันที่หมู่ที่ 4 บ้านสามหมื่น และ หมู่ที่ 6 บ้านวังกุ้ง ต.ปากพระ อ.เมือง ก็ประสบปัญหาภาวะน้ำท่วมในพื้นที่สูงจากแม่น้ำยมล้นตลิ่งเช่นเดียวกัน รวมทั้งระดับน้ำที่ไหลบ่าเข้าท่วมยังไหลบ่าข้ามถนนสาย 1293 ตอนสุโขทัย บางระกำ ระยะทางยาว 1.6 กม. ระหว่างหลัก กม.ที่ 8.700 10.300 ระดับน้ำสูงกว่าระดับพื้นผิวถนน 40 เซนติเมตร รถเล็กผ่านลำบากและต้องปิดการจราจรชั่วคราว ด้านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัยเขต 1 สั่งปิดโรงเรียนจากผลกระทบภาวะน้ำท่วมได้แก่ ร.ร วัดปากแคว ต.ปากแคว , และ ร.ร บ้านลัดทรายมูล ขณะเดียวกันจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ซึ่งออกติดตามสถานะการณ์ระดับน้ำอย่างใกล้ชิด ได้สั่งการด่วนให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องระดมกำลังพร้อมอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือเข้าพื้นที่ทำการช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเร่งด่วน พร้อมออกประกาศเตือนชาวบ้านทั้งสองฝั่งของแม่น้ำยมให้เตรียมความพร้อมในการอพยพขนข้าวของขึ้นไว้ในที่สูง รวมทั้งระมัดระวังภาวะแม่น้ำยมล้นตลิ่งฉับพลัน โดยติดตามข่าวสารของทางราชการที่ออกประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง
วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เทศบาลเมืองสวรรคโลกย่านเศรษฐกิจน้ำท่วมพื้นที่ อาคารร้านค้าหลายแห่งปิดทำการน้ำท่วมสูงเศรษฐกิจพัง อ.ศรีสัชนาลัย อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง ต่อเนื่องถึง อ.เมือง และ อ.กงไกรลาศ โดยได้รับผลกระทบสาหัสมากที่สุดที่อำเภอสวรรคโลก ถนนสายหลักคือถนนสายจรดวิถีถ่อง ทางหลวงหมายเลขที่ 101 ต้องปิดการสัญจรช่วงเข้าเขตเทศบาลเมืองสวรรคโลก เนื่องจากมีระดับน้ำท่วมขังถึง 50 เซนติเมตร รถเล็กผ่านได้ลำบากด้านโรงพยาบาลสวรรคโลก ถูกน้ำท่วมสูงคนไข้ใหม่ไม่สามารถเข้าไปรับบริการได้สถานที่ราชการ ที่ทำการอำเภอ โรงพักทุกจุดได้รับผลกระทบ โรงเรียนทุกโรงเรียนในพื้นที่ต้องสั่งหยุดการเรียนการสอน พื้นที่หลายหมู่บ้านของ ต.ย่านยาว , ต.คลองกระจง , ต.ท่าทอง กำลังถูกแม่น้ำยมที่เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่อย่างหนัก

สุพรรณบุรี

สถานการณ์น้ำที่ตลาดเก้าห้อง 100 ปี อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นตลาดเก่าแก่และเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่มีหอดูโจรที่เก่าแก่อายุกว่า 100 ปี น้ำจากแม่น้ำท่าจีนได้เอ่อล้นแนวเขื่อนจนทำให้กระสอบทรายพังทลายน้ำได้ทะลัก เข้าท่วมเขตเศรษฐกิจ ของตลาดเก้าห้อง 100 ปี ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่กว่า 100 ปี กว่า 300 ห้องถูกน้ำท่วมชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน เจ้าหน้าที่เทศบาลร่วมกับกำลังทหารจากกองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ จ.กาญจนบุรี รวมกว่า 120 นาย เร่งหาทางกู้วิกฤติน้ำท่วม ได้ช่วยกันนำกระสอบทรายทำแนวเขื่อนกั้นน้ำ เพื่อจะสูบระบายน้ำออก
ขณะที่ช่วงสายวัน 9 กันยายน พ.ศ.2554 ระดับน้ำแม่น้ำท่าจีนพื้นที่ตลาดเก้าห้อง 100 ปี น้ำเอ่อล้นไหลข้ามถนน ช่วงสายตลาดเก้าห้อง ตลาดคอวัง อ.บางปลาม้า หลายจุด ขณะนี้น้ำมีระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง น้ำเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนประชาชนเป็นวงกว้างมากขึ้น ชาวบ้านหลายรายขนย้ายข้าวของรถยนต์กันไม่ทัน ซึ่งขณะนี้ภายในตลาดเก้าห้อง 100 ปี ระดับน้ำสูงกว่าเมื่อปี 2549 เกือบ 50 ซม.ล่าสุดกำลังกองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ จ.กาญจนบุรี ร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศบาล กำลังเร่งหาทางกู้วิกฤติสถานการณ์น้ำที่ตลาดเก้าห้องก่อนเนื่องเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ชาวบ้านต้องใช้เรือแทนรถสัญจรไปมา ขณะที่คนป่วยก็ต้องใช้เรือเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบาง ปลาม้า ทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความลำบาก

สมุทรปราการ

เกิดเหตุสะเทือนขวัญเมื่อเสาไฟฟ้าได้ล้มลงทับผู้เคราะห์ร้ายซึ่งเป็นคนขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างเสียชีวิต และยังมีเสาไฟฟ้าอีกสองต้นล้มลงมาขวางทางถนน เหตุเกิด กลางซอยขจรวิช หมู่ 1 ต.แพรกษาใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ส่งผลให้ไฟฟ้าดับไปช่วงหนึ่ง

ปทุมธานี

ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีได้ประกาศภัยพิบัติ 2อำเภอ รวมทั้งหมด64หมู่บ้านน้ำท่วมเข้าบริเวณตลาดบางเตย ต.บางเตย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี และเข้าท่วมสถานีตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 10-20 ซม.บรรดาพ่อค้าแม่ค้าในตลาดขนย้ายข้าวของขึ้นที่สูงหนีน้ำท่วมเมื่อเวลา 22.00 น.วันที่ 8 ก.ย.54 พ.ต.ท.ประเสริฐ พิมเสน สารวัตรเวรสอบสวน สภ.เมืองปทุมธานี ได้รับแจ้งเหตุรถชนกันบนสะพานปทุมธานี 2 จำนวน 7 คัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 1 รายจึงไปที่เกิดเหตุบนสะพานปทุมธานี 2 ต.บางขะแยง อ.เมือง จ.ปทุมธานี โดยมีฝนโปรยลงทำให้ถนนลื่นโดยจุดเริ่มต้นจากรถกระบะบิกเอ็มสีแดงได้เฉี่ยวรถจักรยนตร์จนล้ม ทำให้รถที่ตามมาหักหลยจนไปชนข้างทางและชนตามกันเป็นทอด ๆ

นครสวรรค์

น้ำท่วมนาข้าวในตำบลบางพระหลวง ม.2 อ.เมืองนครสวรรค์ น้ำในคลองบางพระหลวง คลองสาขาของแม่น้ำน่าน เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนพื้นที่หมู่ 2 ต.บางพระหลวง อ.เมือง ชาวบ้านต้องทำการอพยพย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ที่อำเภอชุมแสงพื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมนับหมื่นไร่ ชาวนาได้รับความเดือดร้อนหนัก ถนนหลายสายเริ่มขาด ประชาชนเริ่มขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเจ็บป่วยด้วยโรคที่มากับน้ำ พื้นที่เลี้ยงสัตว์ถูกน้ำท่วมทั้งหมดโดเฉพาะที่ ตำบลบางเคียน อำเภอชุมแสง ที่มีเกษตรกรเลี้ยงวัวเนื้อนับพันตัวต้องต้อนวัวมาเลี้ยงข้างถนน ฝูงวัวไม่มีหญ้ากินเพราะน้ำท่วมหมด บางรายต้องต้อนฝูงวัวไปเลี้ยงยังหมู่บ้านอื่นระยะทางหลายสิบกิโลเมตร
เกิดเหตุเรือทหารค่ายจิระประวัติ ล่มขณะเข้าช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม เป็นเหตุให้ทหารที่เป็นคนขับเรือเสียชีวิต 1 นาย เรือท้องแบนของทหารค่ายจิระประวัติล่มที่บริเวณต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างเข้าช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม เป็นเหตุให้ทหารจมน้ำเสียชีวิตไป 1 นาย คือ จ่าสิบเอกวสันต์ ธันนิธิ เป็นกัปตันเรือ

ชัยนาท

วันที่ 4กันยายน พ.ศ.2554เขื่อนเจ้าพระยาได้ระบายน้ำเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนของ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก ชาวบ้านกว่า 50 ครัวเรือนต้องทำเพิงพักริมถนน เพื่อเป็นที่หลับนอน และขนข้าวของเก็บไว้ไม่ให้เสียหายจากน้ำท่วม ส่วนทหารเร่งนำเอากระสอบทรายไปกั้นเป็นแนวบริเวณคลองชลประทานบางสารวัตร เพื่อไม่ให้น้ำท่วมขยายวงกว้างมากขึ้น

นนทบุรี

นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและวาตภัยจังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 23มีนาคมพ.ศ.2554 น้ำท่วมได้สร้างความเสียหายแก่วัดลานนาบุญในจังหวัดนนทบุรี

นครปฐม

ร.ต.พงศธร ศิริสาคร หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันพื้นที่ประสบอุทกภัยได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว 2 อำเภอ คือ อ.บางเลน, อ.นครชัยศรี ซึ่งมีด้วยกัน 8 ตำบล 66 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 5,257คน 1,469 ครัวเรือน และความเสียหาย รวมมูลค่าความเสียหายในเบื้องต้นประมาณ 750,000 บาท ประกอบด้วยด้านทรัพย์สิน บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 77 หลัง, ด้านการเกษตร พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 2,849 ไร่ บ่อปลา บ่อกุ้ง บ่อตะพาบ 50 บ่อ และด้านสิ่งสาธารณะประโยชน์ ถนน 4 สาย

เพชรบูรณ์

อำเภอหล่มสัก โรงเรียนสิริน คริสเตียนได้สั่งปิดการเรียนการสอนอย่างไม่มีกำหนด ขณะที่บ้านเรือนถูกน้ำท่วมกว่า 500 หลังคาเรือน การจราจรเป็นไปด้วยความยากลำบาก น้ำท่วมสูง 60 เซนติเมตรและส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายกว่าหนึ่งหมื่นไร่

พระนครศรีอยุธยา

ที่อำเภอเสนา อำเภอบางบาลและอำเภอผักไห่ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้เพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลิ่ง ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านในทั้งสองอำเภอเสียหายอย่างหนัก[45] ไม่สามารถขายหรือส่งออกได้ทั้งยังเน่าเหม็นส่งกลิ่นคละคลุ้งในเวลากลางคืน ประชาชนหวั่นเกรงปัญหาโรคระบาดในพื้นที่

อ่างทอง

ที่อำเภอป่าโมก ซึ่งมีพื้นที่เป็นท้องกระทะราบต่ำ จึงทำให้พื้นที่ราบลุ่ม เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะชาวบ้านตำบลโผงเผง ได้รับผลกระทบ โดยน้ำได้ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนจำนวน 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 6 จำนวน 10 หลังคาเรือน บางจุดน้ำท่วมสูงเกือบ 1 เมตร ทำให้ชาวบ้านต้องเร่งสร้างสะพานชั่วคราว เพื่อเข้าออกภายในบ้าน บางหลังต้องทำสะพานออกจากครัว เนื่องจากใต้ถุนบ้านถูกน้ำท่วมสูงที่ ส่วนอำเภอไชโยและอำเภอเมือง

ภาคใต้

ดูบทความหลักที่อุทกภัยและดินถล่มในภาคใต้ของประเทศไทย พ.ศ. 2554
จังหวัดที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมและแผ่นดินไหวได้แก่

ชุมพร

โดยเมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2554พ.ต.อ.ภคพล ทวิชศรี ผกก. สภ.หลังสวน จ.ชุมพร นำกำลังตำรวจไป ปิดกั้นเส้นทางหลวง สาย 4006 จาก อ.หลังสวน จ.ชุมพร ไปยัง จ.ระนอง เนื่องจากได้รับแจ้งว่า ในเส้นทางหลักสายดังกล่าว ที่ จุด กม.ที่ 54 หมู่ที่ 9 บ้านในหงาว ต.หาดยาย อ.หลังสวน จ.ชุมพร น้ำป่าได้ไหลทะลักท่วมสะพานข้ามคลองหงาว ระดับน้ำสูง 3 เมตร สูงจนท่วมป้ายบอกชื่อคลอง ทำให้รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านไปมาได้ ส่งผลให้รถบรรทุก รถของนักท่องเที่ยว ติดอยู่บนเส้นทางดังกล่าว จำนวน 50 คน อีกทั้งอยู่ท่ามกลางป่าเขา ไม่สามารถหาอาหารรับประทานได้ พ.ต.อ.ภคพล จึงประสานเพื่อขอความช่วยอย่างเร่งด่วนเนื่องจากต้องใช้เรือท้องแบน เข้าไปลำเลียง นักท่องเที่ยวจำนวนดังกล่าว มาอยู่ในฝั่งที่เป็นเมืองเพื่อหาอาหารรับประทาน
ส่วนที่บ้านเลขที่ 93 หมู่ที่ 11 ต.บ้านควน อ.หลังสวน ตั้งอยู่ริมถนนสายเอเซีย 41 ริมคลองกก ซึ่งกำลังจัดพิธีบำเพ็ญกุศลศพ นางลำดวน สุดใจ อายุ 64 ปี ได้ถูกน้ำป่าทะลักเข้าท่วมอย่างรวดเร็ว ทำให้โลงศพลอยไปตามน้ำ ญาติพี่น้องและชาวบ้านต้องช่วยกันไล่จับโลงศพอย่างทุลักทุเล รวมกันการเตรียมอาหารและขนย้ายสิ่งของกันอย่างโกลาหล
ด้าน หมู่ที่ 16 ต.บ้านควน อ.หลังสวน จ.ชุมพร นายเสรี คงอยู่ ปลัดอาวุโส อ.หลังสวน รับแจ้งมีเหตุดินถล่มทับบ้านเรือนชาวบ้าน ส่วนที่ บ้านแหลมปาย หมู่ที่6 ต.หาดยาย อ.หลังสวน มีชาวบ้านจำนวน 4-5 คน หนีน้ำป่าจนถูกน้ำพัดทะลักตกลงไปในแม่น้ำหลังสวนร้องขอความช่วยเหลือแต่ไม่ทราบชะตากรรม
ในขณะถนนสายหลัก อ.หลังสวน จ.ชุมพร ไปยัง จ.สุราษฏร์ธานี น้ำป่าได้ไหลทะลักท่วมเส้นทางดังกล่าวขาดไม่สามารถใช้การได้ ส่วนที่ อ.ละแม ถนนหลายสายในพื้นที่ อาทิ สาย ละแม ไปยัง เขาชะมด ในพื้นที่ภูเขาสูง ถูกน้ำป่าไหลหลากตัดขาดหลายจุด ทำให้ชาวบ้านหลายพันคนที่อาศัยบนภูเขาชะมด ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ส่วนฝนยังคงตกลงมาอย่างหนักอย่างต่อเนื่อง
เวลา 14.30 น. นายอำนวย บัวเขียว นายก อบจ.ชุมพร พร้อมด้วย นายเสรี คงอยู่ ปลัดอาวุโส อ.หลังสวน พ.ต.อ.ภคพล ทวิชศรี ผกก.สภ.หลังสวน จ.ชุมพร เดินทางเข้าไปยังบ้านเลขที่ 74 หมู่ที่ 7 บ้านวังพรหม ต.หาดยาย อ.หลังสวน จ.ชุมพร พบนายบุญเลิศ จันทร์ศิริ อายุ 47 ปี อาชีพ ชาวสวน เจ้าของบ้าน น้องชายของนายบุญลือ จันทร์ศิริ กำนันตำบลหาดยาย นำไปดูบ้านที่เกิดเหตุดินโคลนถล่มทับบ้านไปครึ่งหลัง และ ดินโคลนจำนวนมากไหลลงมาทับพื้นบ้านหนาร่วม 1 เมตร โดยเมื่อเวลา 06.00 น.วันนี้ ในขณะที่ครอบครัวของนายบุญเลิศกำลังทำภาระกิจในบ้านและมีฝนตกหนักติดต่อกันมาหลายวันได้ยิ่งเสียงดังสนั่นเหมือนมีอะไรเคลื่อนลงมาจากภูเขา เมื่อออกมาดูพบว่า มีดินโคลนจำนวนมากกำลังไหลลงมาจากภูเขา จึงพากันวิ่งหนีออกจากบ้านขึ้นรถกระบะขับออกจากบ้านทันที เมื่อเข้าไปตรวจสอบพบว่า ด้านหลังบ้าน มีดินโคลนสูงร่วม2 เมตรมาทับรอบบ้าน ส่วนด้านหน้าดินโคลนได้ทับ รถ จยย.2 คันจมมิด และมีทรัพย์สินจำนวนมาก รวมถึงพื้นที่สวนผลไม้เสียหายทั้งหมด บ้านของนายบุญเลิศ เป็นบ้าน2 ชั้น อยู่เชิงเขาหาดยาย โดยได้อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าว มานานร่วม 20 ปี ที่ผ่านมาไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น จนกระทั่งมาในวันนี้
นายอำนวย บัวเขียว นายก อบจ.ชุมพร กล่าวว่า เมื่อฝนหยุดตกคงต้องให้กองช่างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร นำรถแบคโฮ หรือขุดตัก มาขุดดินให้ และ ให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูอีกครั้งหนึ่ง
ทางด้าน พ.ต.อ.ภคพล ทวิชศรี ผกก. สภ.หลังสวน เปิดเผยว่า ได้ตั้งหน่วยฉุกเฉินเพื่อให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน ที่ต้องการกำลังในการขนย้ายทรัพย์สินสามารถเรียกได้ 24 ชม. สำหรับเส้นทางสายหลัก จาก อ.หลังสวน ไปยังสุราษฏร์ธานี ในเส้นทางสายล่าง ในขณะนี้ไม่สามารถใช้การได้ แต่สาย เอเซีย 41 ยังคงใช้ได้
ทางด้านนายพินิจ เจริญพานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ในฐานะ ผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม จังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า จังหวัดได้ประกาศพื้นที่ 6 อำเภอ คือ เมือง สวี ทุ่งตะโก หลังสวน พะโต๊ะ และละแม เป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย และดินโคลนถล่ม แล้ว รวม 25 ตำบล จำนวน 175 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 14,719 คนบ้านเรือนได้รับความเสียหาย 4,745 ครัวเรือน
สำหรับสภาพอากาศโดยทั่วไปของจังหวัดชุมพร ยังคงปกคลุมไปด้วยเมฆฝน สลับกับมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตตัวเมืองอำเภอหลังสวน ระดับน้ำในคลองใกล้เอ่อล้นตลิ่งมากแล้ว หากยังคงมีฝนตกลงมาเพิ่มในพื้นที่ต้นน้ำอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้ระดับน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมเมืองหลังสวนได้

นครศรีธรรมราช

วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2554 ฝนถล่มนครศรีธรรมราชเส้นทางจราจรมุ่งหน้าสุราษฎร์ธานีเป็นอัมพาตเจ้าหน้าที่ยังอพยพคนหนีภัยอย่างต่อเนื่อง ส่วนพระธุดงค์ที่ถูกดินโคลนทับขณะนี้พบศพแล้ว ขณะที่นักท่องเที่ยวที่ติดอยู่ในรีสอร์ท 60 คนปลอดภัยดี
ที่ จ.นครศรีธรรมราช ความคืบหน้าเหตุการณ์อุทกภัยที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสภาวะฝนตกอย่างหนักต่อเนื่อง ปริมาณน้ำได้ไหลหลากส่งผลกระทบต่อการจราจรโดยเฉพาะเส้นทางสายนครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะในเขต อ.สิชล และ อ.ท่าศาลาพบรถยนต์ถูกน้ำซัดตกถนนในบริเวณ อ.สิชลหลายคัน
ส่งผลให้ขณะนี้ต้องปิดการจราจรเนื่องจากระดับน้ำท่วมสูงไม่สามารถใช้การได้ และถนนสายนครศรีธรรมราช-ทุ่งสง ได้อยู่ในลักษณะเดียวกันเนื่องจากระดับน้ำได้ไหลบ่าผ่านถนนรถไม่สามารถใช้การได้ทุกชนิด ขณะเดียวกันยังมีรายงานของสะพานบนนถนนสายหลักขาดหลายจุดด้วยกันในอำเภอท่าศาลาและอำเภอนบพิตำ
นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชเปิดเผยว่าขณะนี้ได้ประกาศเขตพื้นที่ภัยพิบัติครอบคลุม 16 อำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช แล้ว โดยในเบื้องต้นนั้นแต่ละอำเภอนายอำเภอจะมีอำนาจสั่งจ่ายเงินฉุกเฉินได้อำเภอละ 1 ล้านบาท และหากมีกรณีเกินกำลังอำเภอที่จะรับได้ หรือมีการใช้งบประมาณจนหมดแล้วสามารถมาขออนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดได้อีก เนื่องจากในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีงบประมาณอีก 10 ล้านบาท
นายคเณศวร์ คงหอม รักษาการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ในการช่วยเหลือขณะนี้ได้รับการสนับสนุนจาก กก.ตชด.42 มีกำลังพลพร้อมเรือท้องแบน อบจ.นครศรีธรรมราช สนับสนุนเครื่องจักร ปภ.เขตจัดส่งเรือท้องแบนอีก 16 ลำ
และในส่วนของ ปภ.จังหวัดได้กระจายเรือออกไปให้ความช่วยเหลือชาวบ้านรวม 38 ลำ ในการอพยพผู้คนจากพื้นที่ต่าง ๆ ที่ประสบภัยพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือ อ.ท่าศาลา และ อ.นบพิตำ มีคอสะพานขาดขณะนี้แขวงการทางกำลังเร่งกู้สถานการณ์อย่างเร่งด่วน ทั้งสองอำเภอดูเหมือนว่าจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.นบพิตำ มีนักท่องเที่ยวราว 60 คนติดค้างอยู่ในรีสอร์ทหนำไพรวัลย์ ทราบว่าทั้งหมดปลอดภัย แต่ยังเดินทางออกมาไม่ได้ และมีอาหารการกินเรียบร้อยจึงไม่น่าห่วงมากนัก ส่วนอื่น ๆ นั้นกำลังเร่งค้นหาช่วยเหลือตามชุมชนต่าง ๆ ร่วมกับ อปท.ในพื้นที่
นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าการค้นหาพระธุดงค์ที่มรณภาพในพื้นที่บ้านในเพลา ม.8 ต.ขนอม อ.ขนอม ได้พบแล้วทั้ง 2 ศพ โดยศพแรกคือพระภัทราพร จีรวรา อายุ 50 ปี และพระอภิชาต อคธัมโม (คุ้มประดิษฐ์) ไม่ทราบอายุ มีภูมิลำเนา กทม.และสระบุรี ได้เดินธุดงค์มาปักกลดในบริเวณร่องทางไหลของหินและโคลนพอดี โดยรายหลังนั้นพบว่าถูกกระแสโคลนดินลากไปกว่า 100 เมตร

 พัทลุง

น้ำท่วมพัทลุงขยายวงกว้าง 11 อำเภอ 63 ตำบล สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดพัทลุง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพัทลุงรายงานเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2554 ว่า พื้นที่จังหวัดพัทลุงยังมีน้ำท่วม 11 อำเภอ 63 ตำบล 563 หมู่บ้าน 43 ชุมชน ประชาชนเดือดร้อน 41,783 ครอบครัว 163,134 คน พื้นที่ทำการเกษตรเสียหาย 40,754 ไร่ สัตว์เลี้ยงตายและสูญหายจำนวน 280,231 ตัว บ่อเลี้ยงปลาจมน้ำ 950 บ่อ และโรงเรียนเสียหายจำนวน 11 แห่ง ส่วนอื่นๆอยู่ระหว่างสำรวจ และในทุกพื้นที่ก็ยังมีน้ำท่วมสูงโดยเฉพาะพื้นที่ริมทะเลสาบนั้น สถานการณ์ยังไม่คลี่คลายและมีน้ำท่วมสูงขึ้นในบางตำบล
เนื่องจากมีน้ำเหนือไหลมาสมทบ ประกอบกับมีน้ำทะเลหนุนท่วมขังบ้านเรือนของราษฎรใน อ.เมือง ควนขนุน บางแก้ว เขาชัยสนระดับน้ำสูง 1- 2 เมตร และน้ำไหลท่วมชุมชนลำปำหัวนอน ตลาดร้านค้าอาหาร ต.ลำปำในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง มีน้ำท่วมสูงเกิน 50 ซม. ประชาชนในชุมชนต้องขนของหนีน้ำกลางดึก และที่ อ.ศรีบรรพต น้ำป่าจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า ไหลทะลักท่วมถนนสายควนขนุน-ศรีบรรพต รถทุกชนิดวิ่งผ่านไม่ได้ และที่ ต.เขาปู่ อ.ศรีบรรพต ต้นไม้ขนาดใหญ่ล้มทับบ้านเรือนของราษฎรได้รับความเสียหาย 1 หลัง

พังงา

วันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2554 นายสมเกียรติ อินทรคำ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพังงา เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์น้ำป่าเข้าท่วมในพื้นที่จังหวัดพังงา มี 7 อำเภอ ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลากในอำเภอตะกั่วป่า จำนวน 4,800 คน 1,000 ครัวเรือน ใน 8 ตำบล 58 หมู่บ้านและมีผู้เสียชีวิตจำนวน 2 คน อำเภอคุระบุรีมีราษฏรได้รับผลกระทบจำนวน 6,012 คน 1,580 ครัวเรือน ใน 4 ตำบล 33 หมู่บ้านและมีสะพาน 3 แห่งถูกตัดขาด อำเภอกะปง ราษฎรในพื้นที่ 4 ตำบล 20 หมู่บ้านและถนน 3 สาย ระหว่างเทศบาลตำบลท่านา-บ้านลำรู่ ถูกตัดขาด อำเภอตะกั่วทุ่ง ราษฎร 2,500 คน 480 ครัวเรือน พื้นที่ 6 ตำบล 22 หมู่บ้านและถนน 30 สายถูกน้ำท่วมเสียหาย อำเภอทับปุด ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 6 ตำบล 22 หมู่บ้าน ถนนถูกน้ำท่วมเสียหาย 12 สาย และสะพาน 2 แห่ง และอำเภอเมืองพังงา มีราษฎร จำนวน 200 คน 30 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 ตำบล 38 หมู่บ้าน น้ำท่วมถนนได้รับความเสียหาย 30 สาย สถานการณ์โดยร่วมทั้งจังหวัดพังงา มี 36 ตำบล 220 หมู่บ้าน 4,070 ครัวเรือน ราษฎร 18,712 คน ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งทางจังหวัดพังงาได้ประสานทุกหน่วยงานในทั้งตำบล และจังหวัดให้เข้าช่วยเหลือประชาชนเป็นการเร่งด่วนแล้ว

ระนอง

นายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระนองรายงานความเสียจากอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดระนองอันเป็นผลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้ฝั่งตะวันตกระหว่างวันที่ 25 -29 ส.ค.2554 ทำให้เกิดฝนตกหนักในเขตพื้นที่จังหวัดระนองและเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่จนร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและพื้นที่ทางการเกษตร สามารถสรุกได้ดังนี้ ราษฏรเดือดร้อน 16,555 คน 1,895 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตร พืชสวนและอื่นๆ เสียหายรวม 7,212 ไร่ บ้านเรือนถูกน้ำท่วมขังจำนวน 535 ครัวเรือน สิ่งสาธารณูปโภคเสียหายเบื้องต้น สะพาน 10 แห่ง ถนน 56 สาย ฝาย 8 แห่ง ท่อระบายน้ำ 27 แห่ง
โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นแบ่งเป็นแต่ละอำเภอได้ดังนี้ อ.กระบุรี น้ำท่วมบ้านเรือนราษฏรจำนวน 15 หลังคาเรือน ในพื้นที่ ม.1,2,5,6,9 ต.ปากจั่น ม.7,9,11, ต.จ.ป.ร. ม.1,2,9 ต.น้ำจืด ,น้ำทะเลหนุนทำให้น้ำท่วมบริเวณ ต.น้ำจืด,ดินเลื่อนไหลพื้นที่ ม.8 ต.น้ำจืด โดยดินเลื่อนไหลปิดเส้นทางเข้าออกหมู่บ้านบริเวณทางเข้าน้ำตกบกกราย,ดินเลื่อนไหลปิดเส้นทางเข้าออก ม.9,11 บ้านไนกรัง ต.จ.ป.ร.
อ.กะเปอร์ บริเวณ ม.2 ต.กะเปอร์ อ.กะเปอร์ นำท่วมพื้นที่เกษตรจำนวน 100 ไร่ ,ม.1 ต.เชี่ยวเหลียง อ.กะเปอร์ เกิดน้ำป่าท่วมกัดเซาะคอสะพานขาด ทำให้ชาวบ้าน 21 ครัวเรือน ไม่สามารถสัญจรออกมาด้านนอกได้,ชาวบ้าน ม.2,3,5 ต.เชี่ยวเหลียง อ.กะเปอร์ มีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจำนวน 117 ครัวเรือน ,ชาวบ้าน ม.3 บ้านทองหลาง ต.บ้านนา สะพานถูกน้ำกัดเซาะทำให้คอสะพานขาด ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจำนวน 30 ครัวเรือน ม.8 บ้านทรัพย์สมบูรณ์ ต.บ้านนา ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน จำนวน 80 ครัวเรือน
อ.เมืองระนอง เกิดดินเลื่อนไหลปิดทับเส้นทาง 2 แห่ง คิอ ถนนสายหาดส้มแป้น-ละอุ่น (กม.3+50) ได้เกิดดินเลื่อนไหลปิดทับเส้นทางทั้ง 2 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 50-60 ม. ท่อประปาได้รับความเสียหาย รถไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้,ถนนบริเวณบ้านเขานางหงส์ ดินไหลทับเส้นทาง,เกิดอุทกภัยในพื้นที่ ม.1,2 ต.เกาะพยาม ม.1,2,3 ต.หาดส้มแป้น ม.2,3,4 ต.ทรายแดง ม.1,2,3,4,5,6 ต.ปากน้ำ ม.1,2,3,4,5,6,7,8 ต.ราชกรูด ม.1,2,3,4,5 ต.หงาว ม.1,2,3,4,5 ต.บางริ้น ม.1,2,3,4 ราษฏรเดือดร้อน 820 คน 208 ครัวเรือน สิ่งสาธารณูปโภคเสียหาย ถนน 36 สาย ฝาย 8 แห่ง ท่อระบายน้ำ 27 แห่ง โดยขณะนี้ทางจังหวัดเตรียมประกาศให้จังหวัดระนองเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติทั้ง 5 อำเภอ

สงขลา

สถานการณ์น้ำท่วม จ.สงขลา วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2554 มีพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม 2 อำเภอ คือ ระโนด กับกระแสสินธุ์ อพยพชาวบ้านที่ถูกน้ำกัดเซาะกว่า 50 คนไปอาศัยอยู่ที่วัดชั่วคราวแล้ว พร้อมเตือน 7 อำเภอเสี่ยงดินถล่ม
สถานการณ์น้ำท่วมสงขลายังน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะในพื้นที่ ม. 1 บ้านท่าเข็น ต.คลองแดน อ.ระโนด บ้านเรือนของชาวบ้านจำนวน 9 หลังซึ่งอยู่ติดริมทะเลถูกคลื่นในทะเลอ่าวไทยซึ่งมีกำลังแรงและสูงกว่า 5 เมตร ซัดพังเสียหาย 9 หลังจนไม่สามารถอาศัยได้
นอกจากนี้ยังมีบ้านเรือนของชาวบ้านในพื้นที่ บ้านท่าเข็น อีกกว่า 60 หลังคาเรือนที่ถูกน้ำท่วมสูง เบื้องต้นได้มีการอพยพชาวบ้านเกือบครึ่ง 100 ไปอาศัยอยู่ที่โรงเรียนวัดหัวคุ้ง เป็นการชั่วคราวเพื่อความปลอดภัยจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ส่วนความช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน นายอุทิศ ชูช่วย นายกองค์การบริหารส่วน จ.สงขลา ได้นำข้าวสาร อาหารแห้ง จำนวน 20 ชุด เข้าช่วยเหลือเบื้องต้น เพื้อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในเบื้องต้น
ขณะที่ภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมของจ.สงขลา จนถึงขณะยังคงมีพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม 2 อำเภอคือ อ.ระโนด กับอ.กระแสสินธุ์ ซึ่งจากการสำรวจความเสียหายในเบื้องต้นพบว่ามีพื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 5,000 ไร่ และมีบ้านเรือนชาวบ้านเสียหายประมาณ 30 หลัง
นอกจากนี้ทางศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สงขลา ได้แจ้งเตือนไปยังพื้นที่เสี่ยงภัยที่อาจเกิดดินถล่มทั้ง 7 อำเภอคือ จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย นาหม่อม รัตภูมิ และ อ.เมือง ให้เฝ้าระวังสถานการณ์และเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชน เนื่องจากยังคงมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง

สตูล

วันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2554 น้ำท่วมสตูลขยายวงกว้าง 4 อำเภอ ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 2 พันครัวเรือน ต.ควนโดนหนักสุดบางหลังท่วมถึงหลังคาบ้าน ทหารและอบต.เร่งให้ความช่วยเหลือ สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จ.สตูล ขณะนี้ได้ขยายวงกว้างแล้วเป็น 4 อำเภอคือ อ.ควนกาหลง อ.ควนโดน อ.ท่าแพแลพอ.ละงู โดย อ.ควนโดนน้ำได้เข้าท่วมพื้นที่ ม. 1,2,4,5,7,และม.9 ต.ควนโดน โดยเฉพาะม.7 บ้านบูเก็ตยามู ระดับน้ำสูงเกือบ 2 เมตรบางจุดท่วมถึงหลังคาบ้านของชาวบ้านซึ่งได้รับความเดือดร้อนกว่า 100 ครัวเรือน มีทหารและอบต.เข้าช่วยเหลือขนย้ายข้าวของออกจากบ้าน ซึ่งทางทหาร ร5 พัน 2 และอส.ควนโดนได้นำเต้นท์ไปกางข้างถนนเพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้อาศัยชั่วคราวขณะที่น้ำยังไหลทะลักเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนที่ อ.ท่าแพน้ำได้ท่วมพื้นที่ ต.ท่าแพ ม.2,3,4,5,6 และ ม.9 ชาวบ้านกว่า 700 ครัวเรือนได้รับความเดือนร้อน ที่ อำเภอ ละงู เกิดลมกรรโชกแรงพัดต้นจำปาดะขนาดใหญ่ที่ปลูกไว้ข้างบ้านล้มทับบ้านของนายปรีดา แซะอาลี อายุ 40 ปี บ้านเลขที่ 127 ม.6 ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูลทำให้กระเบื้องหลังคาบ้านแตกได้รับความเสียหาย ทาง อบต.ปากน้ำได้เข้าไปช่วยเหลือ ขณะที่คลื่นลมในทะเลมีกำลังแรงส่งผลให้เรือประมงอวนลากชื่อรือ อภิวัฒน์ ถูกคลื่นซัดล่มบริเวณระหว่างเกาะเขาใหญ่-เกาะตะรุเตาขณะนำเรือหนีคลื่นลมเข้ามายังฝั่งแต่ลูกเรือทั้งหมดปลอดภัยส่วนร้านค้าที่อยู่ริมชาดหาดปากบารา อ.ละงูต้องขนย้ายเข้าของเนื่องเกิดลงกรรโชกแรงและถูกคลื่นซัด อย่างไรก็ตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.สตูลขณะนี้ได้ท่วมแล้ว 4 อำเภอ ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน กว่า 2,000 ครัวเรือน

สุราษฏร์ธานี

เช้าวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2554 สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สุราษฎร์ธานี น้ำยังท่วมสูงขึ้นเรื่อย ๆ และเชี่ยวกราก บางจุดท่วมสูงมากกว่า 3 เมตร ขณะที่ยังมีชาวบ้านประมาณ 1,000 คนส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่อยู่ในตลาดพุนพิน และอาศัยบริเวณชั้น 2 และชั้น 3 ของอาคารพาณิชย์ และหลังคาบ้านไม่ยอมเคลื่อนย้ายออก ไม้ว่าเจ้าหน้าที่จะร้องขอก็ตามโดยตั้งใจจะรอที่บ้านจนกว่าระดับน้ำลดลง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่เองทำได้เพียงการนำอาหารแห้งและอาหารสำเร็จรูปไปให้
นายทศพล งานไพโรจน์ นายกเทศมนตรีเมืองท่าข้าม อ.พุนพิน กล่าวว่า เช้าวันนี้ระดับน้ำยังเพิ่มสูง และยังน่าเป็นห่วงในหลายพื้นที่ในตัวเทศบาล เพราะยังไม่มั่นใจว่าน้ำจะลดลงเมื่อไหร่ ส่วนชาวบ้านแม้จะร้องขอก็ไม่ยอมเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ โดยสิ่งที่ต้องการมากที่สุดขณะนี้ คืออาหาร น้ำ และ ยารักษาโรค ยังไม่เพียงพอ
ส่วนในเขต ต.คลองน้ำ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ระดับน้ำยังเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน บางจุดระดับน้ำสูงมากว่า 3 เมตร มิดหลังคาบ้าน โดยชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่หมดแล้ว โดยการช่วยเหลือครัวเคลื่อนที่ของกองทัพบกยังคงลำเลียงอาหารสำเร็จรูปวันต่อวัน

ปัตตานี

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ปัตตานี ระลอก 5 ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานีเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะนี้น้ำได้เอ่อล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร จมอยู่ใต้น้ำกว่า 300 หลัง ระดับสูง 60-100 ซม.ด้านจังหวัดได้เร่งเข้าสำรวจเพื่อให้ความช่วยเหลือ
วันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2554 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ปัตตานี หลังเกิดฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ล่าสุดระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานีเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สืบเนื่องจากฝนตกหนักหลายวันและน้ำเหนือจาก จ.ยะลา ที่ไหลลงมาสมทบ ทำให้เมื่อคืนที่ผ่านมาแม่น้ำปัตตานีเอ่อล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ ม.1 และ ม.2 บ้านจางา ต.ปะกาฮารัง อ.เมืองปัตตานี จมอยู่ใต้น้ำกว่า 300 หลังคาเรือน ระดับสูง 60-100 ซม. ถนนทางเข้าออกระหว่างตำบลถูกน้ำท่วมสูง 30 ซม.เป็นระยะทางยาว 2 กม. แต่รถยังสามารถสัญจรไปมาได้ มีเพียงถนนภายในหมู่บ้านเท่านั้นที่รถไม่สามารถเข้าออกได้ ซึ่งประชาชนกว่า 300 ครัวเรือน ต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทางเข้าออกหมู่บ้าน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วมใน ต.ปะกาฮารัง ถือเป็นระลอก 5 ในรอบ 50 ปี เนื่องจากชาวบ้านบอกว่าไม่เคยเจอและไม่เคยประสบกับน้ำท่วมระยะเวลายาวนานถึง 3 เดือน ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านแล้ว ขณะที่ทางจังหวัดได้เร่งเข้าสำรวจเพื่อเตรียมการเข้าให้ความช่วยเหลือแล้ว
เบื้องต้นจะนำถุงยังชีพเข้าไปบรรเทาผู้ได้รับความเดือดร้อนก่อน และหากสถานการณ์น้ำยังไม่มีทีท่าจะลดลงก็ต้องให้ประชาชนอพยพออกนอกพื้นที่ และให้พักอาศัยในเต็นท์ชั่วคราว หรือสถานที่ที่ทางจังหวัดจัดให้ก่อน

นราธิวาส

ฝนตกหนักนราธิวาสน้ำท่วมพื้นที่ราบลุ่ม ถนนเขตเทศบาลเมืองนราธิวาสท่วมสูง 50 เซนติเมตร ทำให้ร้านค้าที่อยู่ริมถนนต้องปิดร้านเพื่อขนย้ายข้าวของหนีน้ำ
วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2554 จังหวัดนราธิวาสหลังจากมีฝนตกหนักตลอด 2 วันที่ผ่านมา พื้นที่ราบลุ่มในหลายอำเภอถูกน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะถนนพิชิตบำรุง เขตเทศบาลเมืองนราธิวาสมีน้ำท่วมสูง 50 เซนติเมตร ทำให้ร้านค้าในพื้นที่ต้องปิดร้านชั่วคราวเพื่อขนย้ายสินค้าและข้าวของไปอยู่ในที่ปลอดภัย
ด้านนายมณี อุทรักษ์ ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ขณะนี้เป็นผลกระทบที่เกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำเข้ามาปกคลุม ทำให้จังหวัดนราธิวาสมีฝนตกชุกและมีฝนตกหนักในพื้นที่ และเหตุที่มีน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาสเกิดน้ำท่วมขังเนื่องจากมีน้ำทะเลหนุนทำให้การระบายน้ำเป็นไปด้วย

ยะลา

น้ำท่วมในจังหวัดยะลาในเดือนมกราคม พ.ศ.2554 จ่าสิบเอก โยธิน ทองน้อย ผู้บังคับหน่วยพัฒนาสันติที่ 47 48 นำกำลังเจ้าหน้าที่ทหารพราน ร่วมกับชาวบ้าน ครู อาจารย์ นักเรียน ช่วยกันล้างทำความสะอาดห้องเรียน โรงเรียนบ้านทุ่งเหรียง หมู่ที่ 2 ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งมีน้ำท่วมขังนานกว่า 3 วัน เพื่อเตรียมทำการเรียน การสอน นายวิพัฒน์ แทนบุญ ครูโรงเรียนบ้านทุ่งเหรียง กล่าวว่า โรงเรียนบ้านทุ่งเหรียงประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปีนี้ท่วมถึง 2 ครั้ง ทำให้อุปกรณ์การเรียนการสอนเสียหายจำนวนมาก ทั้งนี้คาดว่า วันพรุ่งนี้ (12 ม.ค.54) จะสามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ตามปกติ และในวันที่ 13 มกราคม 2554 ทางโรงเรียนจะจัดกิจกรรมวันเด็กให้กับนักเรียนในโรงเรียน จึงขอเชิญชวนประชาชนในพื้นที่ และทุกภาคส่วนร่วมบริจาคสิ่งของวันเด็กให้แก่เยาวชนได้ที่ โรงเรียนบ้านทุ่งเหรียง

กระบี่

สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกระบี่ออกประกาศเตือนให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนัก อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มได้ ตลอดจนคลื่นลมในทะเลมีกำลังแรงขึ้นโดยความสูงของคลื่นประมาณ 2-4 เมตร เรือเล็กงดออกจากฝั่ง หลังฝนตกอย่างหนักในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ทำให้ปริมาณน้ำในคลองกระบี่ใหญ่ ซึ่งเป็นคลองที่รับน้ำจากน้ำตกห้วยโต้ อุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา ตำบลทับปริก อำเภอเมืองกระบี่ เพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว น้ำเป็นสีโคลน พัดเอากิ่งไม้ ต้นไม้มาเป็นจำนวนมาก เรือประมงขนาดกลาง และขนาดใหญ่กว่า 100 ลำยังคงจอดเทียบท่าเรือและทำการงดเดินเรือ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในจังหวัดกระบี่

ตรัง

แม้ว่าจังหวัดตรังจะไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ แต่ได้เกิดภัยแผ่นดินไหวขนาด 3.5 ริกเตอร์ ในพื้นที่จังหวัดตรัง ส่งผลให้ มีบ้านร้าว 19 หลังคาเรือน ในสามอำเภอ คือ อำเภอกันตัง6 หลังคาเรือน อำเภอย่านตาขาว 5 หลังคาเรือน และ อำเภอเมืองตรัง 8 หลังคาเรือน เหตุเกิดวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ภูเก็ต

แม้ว่าจังหวัดภูเก็ตไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ แต่การบินไทยเที่ยวบินที่ 201 ที่ออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปยังท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ต้องเดินทางกลับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก่อนจะกลับไปยังสนามบินนานาชาติภูเก็ตในเวลาต่อมา เป็นเหตุให้เที่ยวบินล่าช้า และเที่ยวบินต่อไปของเครื่องบินลำดังกล่าวก็ล่าช้าออกไปด้วยเช่นกัน

ภาคตะวันตก

จังหวัดที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมได้แก่

กาญจนบุรี

เมื่อเวลา 01.30 น.ของวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2554ได้เกิดเหตุพายุฝนพัดบ้านเรือนประชาชนพังเป็นจำนวนมาก ที่หมู่ 7 2 ต.แก่งเสี้ยน หมู่ 3 บ้านจันอุย ต.วังด้ง หมู่ 4 ต.ลาดหญ้า อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี จึงได้เดินทางไปยังที่เกิดเหตุ พบบ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่หลายหมู่บ้านได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ด้านนายณฐพลษ์ วิเชียรเพริศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้สั่งการให้นายบุญญะพัฒน์ จันทรอุไร นายอำเภอเมืองกาญจนบุรีให้เร่งออกสำรวจความเสียหายโดยด่วน พร้อมทั้งยังสั่งการให้นายไชโย ฤทธิรงค์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี เข้าให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น และยังได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าให้เข้ามาทำการแก้ไขและทำการตัดไฟ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหต ความเสียหายเบื้องต้นว่า มีบ้านเรือนของประชาชนได้รับความเสียหายทั้งหลังและเสียหายบางส่วนกว่า 200 หลังคาเรือน

เพชรบุรี

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2554เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี วิกฤติเหลือน้ำเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ ชลประทานงดส่งน้ำให้ชาวทำนาปรัง แต่ยังคงส่งน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์แม่น้ำเพชรบุรี และเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค แต่ไม่กระทบธุรกิจท่องเที่ยวท้ายเขื่อน เพราะใช้น้ำจาการรักษาระบบนิเวศน์ทำกิจกรรมท่องเที่ยวได้ นายพลาธิป นาคสกุล หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำบำรุงรักษาที่ 4 (เขื่อนแก่งกระจาน) โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา เพชรบุรี กล่าวว่าขณะนี้น้ำในอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน หรือเขื่อนแก่งกระจานเหลือเพียง 240 ล้านลูกบาศก์เมตรเศษ จากจำนวนจุดสูงสุด 710 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เศษ ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากในช่วงฤดูฝนปีที่ผ่านมา ฝนตกเหนือเขื่อนแก่งจานน้อย ขณะนี้ทางเขื่อนแก่งกระจานได้งดส่งน้ำให้ทำการเกษตรแล้ว ส่งให้แต่น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ใช้ในการผลิตประปา และน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ในแม่น้ำเพชรเท่านั้น โดยขณะนี้เขื่อนแก่งกระจานได้ปล่อยน้ำออกท้ายเขื่อนเพื่อรักษาระบบนิเวศน์เพียง 5 10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ และมีการปล่อยในอันตรา 25 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค เป็นช่วง ๆ ในการตกลงกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ

ราชบุรี

ตาก

น้ำป่าจากเทือกเขาแม่ระเมิง และดอยผาหม่น ได้ไหลทะลักลงลำห้วยแม่สลิด ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก อย่างรุนแรง กระแสน้ำยังไหลบ่าเข้าท่วมโรงเรียนบ้านแม่อุสุ ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง ทางโรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอน พื้นที่ทำการเกษตร นาข้าว ไร่สวน ได้รับความเสียหายเป็นพื้นที่วงกว้าง ผู้ว่าราชการจังหวัดตากยังสั่งการให้นายอำเภอทุกอำเภอ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ ห้ามลา ห้ามหยุด ให้อยู่เตรียมพร้อมระดับสูงสุดของพายุนกเตน

ประจวบคีรีขันธ์

น้ำป่าไหลทะลักจากต้นน้ำเพชรบุรีจนมาถึงแม่น้ำปราณบุรี เข้าท่วมพื้นที่ในตำบลห้วยสัตว์ใหญ่และตำบลบึงนคร อำเภอหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เจ้าหน้าที่ได้สั่งปิดน้ำตกป่าระอูชั่วคราว ส่งผลให้ขาดรายได้จากการท่องเที่ยว

ภาคตะวันออก

จังหวัดที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมได้แก่

ฉะเชิงเทรา

ในห้วงระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 6 กันยายน 2554 มีฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเหตุให้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมฉับพลันและมีน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งคลองหลวงแพ่ง คลองเปรง และคลองอุดมชลจร และแม่น้ำบางปะกงมี พื้นที่ประสบภัย 6 อำเภอ 15 ตำบล 65 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอแปลงยาว อำเภอบางน้ำเปรี้ยวอำเภอบางคล้า อำเภอคลองเขื่อน และอำเภอพนมสารคาม ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 19 ครัวเรือน ความเสียหายที่เกิดจาก น้ำท่วม คือ บ้านเรือนคาดว่าจะได้รับความเสียหายประมาณ 27 หลังคาเรือน,พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความ เสียหายประมาณ 2,521 ไร่ ,บ่อปลาคาดว่าจะได้รับความเสียหายประมาณ 2 บ่อ, ถนนลูกรังคาดว่าจะได้รับความเสียหายจำนวน 28 สาย

ตราด

ฝนตกหนักตลอดคืนจนถึงช่วงเช้าวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2554ทำให้เกิดน้ำท่วมถนนสุขุมวิทช่วงหน้าเมืองตราด-สามแยกโรงพยาบาลตราด ถนนเทศบาล 5 ถนนวิวัฒนะ บริเวณหน้าศาลกาลา จ.ตราด โดยมีมีระดับน้ำท่วม 30- 80 ซม. เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองตราดพร้อมเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย ออกมาอำนวยความสะดวกให้รถยนต์ที่ผ่านไปมาไม่สะดวก ขณะที่บริเวณสามแยกทางไป อ.คลองใหญ่ ต.วังกระแจะ อ.เมือง จ.ตราด น้ำท่วมถนนสาย 318 หน้าห้างเทสโก้โลตัส ยาวประมาณ 200 เมตรระดับความสูง 50- 90 ซม. ทำให้ถนน 1 ด้านรถยนต์ไปมาไม่ได้ 1 ช่องทางจราจร ส่วนของ ต.ท่ากุ่ม หมู่ 4 บ้านคลองสะบ้า มีน้ำท่วมพื้นที่สวนยางพารากว่า 100 ไร่ ความสูงกว่า 1 เมตร พร้อมกันนี้ที่บ้านทุ่งไก่ดัก น้ำได้ไหลท่วมโรงอาหารของโรงเรียนวัดทุ่งไก่ดัก ความสูงประมาณ 30- 40 ซม.

สระแก้ว

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2554 อ่างเก็บน้ำช่องกล่ำบน ช่องกล่ำล่าง คลองทราย ได้ล้นแล้วซึ่งเท่ากับว่าอ่างเก็บน้ำล้นแล้ว 1ใน 4ของจำนวนอ่างเก็บน้ำทั้งหมดจึงทำให้ทางจังหวัดต้องติดตามสถานการณ์น้ำจากชลประทานสระแก้วอย่างต่อเนื่อง

ปราจีนบุรี

วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2554น้ำในแม่น้ำปราจีนบุรี ซึ่งได้รับน้ำมาจากด้านอำเภอกบินทร์บุรี และอำเภอประจันตคาม ส่งผลให้ระดับน้ำสูงขึ้นไหลท่วมถนนในเขตเทศบาลเมืองปราจีนบุรี โดยเฉพาะวัดแก้วพิจิตรถูกน้ำท่วมขังสูงกว่า 60 ซ.ม.ซึ่งวัดแห่งนี้เป็นวัดที่เก่าแก่ก่อสร้างเมื่อ 2422 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง และโบราณสถานต่างๆและยังมีน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ เช่น อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอศรีมหาโพธิ

ชลบุรี

เกิดเหตุน้ำท่วมถนนที่กำลังก่อสร้าง ในอำเภอศรีราชา พัทยา และบริเวณชายทะเลริมอ่าวไทย โดยเฉพาะเกาะสีชังและเกาะล้าน มีคลื่นสูง ในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2554 ส่งผลให้การจราจรติดขัด

เมืองพัทยา

ฝนกระหน่ำทั้งคืนวันที่ 11กันยายน พ.ศ.2554อย่างต่อเนื่อง ทำบ้านเรือนชาวบ้านเขตเมืองพัทยาได้รับผลกระทบ ชุมชนวัดธรรมสามัคคี-เขาตาโล-เนินพลับหวาน ระส่ำ! น้ำท่วมเสียหายกระจายวงกว้าง ตลอดคืนของวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.54 มีลมพัดแรงและมีฝนตกอย่างหนักต่อเนื่องตลอดทั้งคืน ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่แอ่งกระทะจนบ้านเรือนประชาชนในเขตเมืองพัทยา ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก บริเวณชุมชนวัดธรรมสามัคคี ชุมชนเขาตาโล ย่านพัทยาใต้ และชุมชนเนินพลับหวานย่านพัทยากลาง ซึ่งถือเป็นย่านชุมชนที่มีประชาชนอาศัยกันอย่างหนาตาและเป็นพื้นที่ติดทางรถไฟ พบว่าปริมาณน้ำได้เอ่อท่วมเข้าบ้านเรือนประชาชนสร้างความเสียหายและได้รับความเดือดร้อนกระจายเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นทางเมืองพัทยาได้ประสานกำลังเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยสว่างบริบูรณ์และเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยเมืองพัทยาระดมกำลังช่วยเหลือชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมขังในบริเวณชุมชนดังกล่าวอย่างเร่งด่วนแล้ว เบื้องต้นยังไม่พบรายงานผู้บาดเจ็บและผู้สูญหาย

ระยอง

บ้านเรือนอำเภอแกลง เสียหาย ได้แก่ หมู่ 3 ถึง หมู่ 6 และหมู่ 8 ต.พังราด เสียหายไปกว่า 100 หลังคาเรือน สวนเงาะ ทุเรียน พัดโค่นล้มไปกว่า 200 ไร่ ที่จังหวัดระยองชาวบ้านพบพายุงวงช้าง ซึ่งคาดว่าเป็นสาเหตุของความเสียหายครั้งนี้

จันทบุรี

ตำบลบางกระไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี 5 หมู่บ้าน ในตำบลลางกะไชย ถูกลมฝนพัดกระหน่ำ หลังคาบ้านมุงกระเบื้องปลิว นอกจากนี้มีเสาไฟฟ้าล้มจำนวน 2 ต้น และต้นไม้ล้มหักโค่นกีดขว้างถนน ร้านขายอาหารกุ้ง กระเบื้องหลังคาปลิวหายไปกว่า 200 แผ่น อาหารกุ้งถูกน้ำฝนเสียหายกว่า 300-400 กระสอบ หลังทำการตรวจสอบพบบ้านเรือนเสียหายจำนวน 42 หลังคาเรือน บางบ้าน กระเบื้องหลังคาปลิวหายไปกว่า 100 แผ่น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จังหวัดที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมได้แก่

ขอนแก่น

วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2554นายอนุกูล ตังคณานุกูลชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผย ถึงสถานการณ์ฝนตกน้ำท่วมภายในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นว่า แม้จังหวัดขอนแก่น ณ ขณะนี้ยังไม่มีรายงานสถานการณ์พายุฝนโดยตรง แต่ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมสั่งการติดตามสถานการณ์พายุฝนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยที่เกิดเหตุน้ำท่วมก่อนหน้านี้
ในพื้นที่เสี่ยงภัย เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากทุกปี โดยเฉพาะพื้นที่รับน้ำที่ไหลบ่ามาจากจังหวัดชัยภูมิ ได้แก่ อ.ภูผาม่าน อ.ชุมแพ และอ. หนองเรือ อ.มัญจาคีรี ชนบท และพื้นที่ลุ่มต่ำ อ. แวงน้อย อ. แวงใหญ่ และอ.เมืองขอนแก่นบางส่วน ทางจังหวัดได้ประสานให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
วันที่ 7กันยายน พ.ศ.2554 ถนนศรีนวล จังหวัดขอนแก่น น้ำได้ไหลเข้าท่วมถนน

นครราชสีมา

นครราชสีมา ภายหลังจากที่อิทธิพลของพายุโซนร้อน นกเตน แผ่อิทธิพลจนทำให้ภายในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา และพื้นที่ใกล้เคียงภายในตัว อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีฝนตกลงมาอย่างหนักเวลานานกว่า 3 ชั่วโมงเมื่อช่วงเย็นวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2554 จนส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ทั่วเมืองโคราช โดยระดับน้ำสูงเฉลี่ยประมาณ 30 - 40 ซม. เนื่องจากท่อระบายน้ำภายในเขตเทศบาลเกิดการอุดดันจากสิ่งปฏิกูลต่างๆที่ไหลมากับน้ำ แต่สถานการณ์ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วหลังจากที่ทางเทศบาลนครนครราชสีมา ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกทำการกำจัดเศษปฏิกูลที่ไหลมาอุดตันท่อน้ำเสร็จสิ้นก็ทำให้ระดับน้ำปรับตัวลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อเวลาประมาณ 23.00 น.วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2554
แต่สถานการณ์ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ เวลา 09.00 น.วันที่ 29 กรกรฎาคม พ.ศ.2554 ที่บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้านจัดสรรโครงการหมู่บ้านไฮซ์แลน 2 และโครงการหมู่บ้านจามจุรี ภายในชุมชนบ้านหนองตะลุมปุ๊ก หมู่ที่ 10 ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา น้ำจากอ่างกักเก็บน้ำกลางชุมชนได้เอ่อเข้าท่วมถนนและบ้านเรือนประชาชนนับ 10 หลังคาเรือน เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเกินความจุกักเก็บ เพราะต้องรองรับน้ำจำนวนมหาศาลจากพื้นที่เหนือชุมชน ภายในเขตดูแลรับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 2 โดยเฉพาะพื้นที่ในโครงการอีสานเขียวที่มีอยู่กว่า 7,000 ไร่ แต่เป็นพื้นที่ราบสูงและเป็นพื้นที่ที่ไม่มีต้นไม้ชะลอน้ำไหล จึงทำให้ปริมาณน้ำเกือบทั้งหมดของพื้นที่ดังกล่าวที่เกิดจากฝนที่ตกหนักเมื่อวานนี้ไหลลงมาสมทบที่อ่างเก็บน้ำกลางชุมชนหนองตะลุมปุ๊ก จนเกินระดับกักเก็บเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมถนนและบ้านเรือนของชาวบ้านบางส่วนโดยระดับน้ำเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30 ซม. โดยบางช่วงน้ำสูงเกินกว่า 50 ซม. แต่ล่าสุดระดับน้ำเริ่มทรงตัวและปรับลดลงบ้างแล้วหลังจากที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลา ได้นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่มาเร่งระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำเพื่อให้ไหลลงไปสู่พื้นที่ด้านล่าง ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่เมื่อกลางดึกของคืนที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามประชาชนในชุมชนยังไม่ไว้วางใจกับสถานการณ์ เนื่องจากทราบข่าวว่าใน 2 - 3 วันนี้จะมีพายุพัดเข้ามาในพื้นที่ถึง 2 ลูกติดต่อกันคือพายุโซนร้อนนกเตน และพายุโซนร้อนหมุยฟ้า ต่างพากันเร่งจัดหากระสอบทรายมาวางกั้นไว้หน้าบ้าน เนื่องจากเกรงว่าน้ำจะเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนเหมือนเช่นทุกๆปีที่ผ่านมา ขณะที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลาได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งทำการบรรจุทรายใส่กระสอบจำนวน 7,000 ใบ และจัดเตรียมรถขนกระสอบทรายไว้เป็นการด่วน เพื่อเตรียมพร้อมจะนำไปให้ประชาชนได้ใช้ทำแนวกั้นน้ำเรียบร้อยแล้ว ซึ่งชาวบ้านภายในชุมชนหนองตะลุมปุ๊ก หมู่ที่ 10 คาดการณ์ว่าหากภายใน 2 - 3 วันนี้ เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ อ.เมือง และอำเภอใกล้เคียงอย่างเช่นเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2554 ที่ผ่านมาน้ำในอ่างเก็บน้ำกลางชุมชนหนองตะลุมปุ๊กจะเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนโดยรอบอย่างแน่นอน

บุรีรัมย์

แม้ว่าบุรีรัมย์จะไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้แแต่เมื่อ วันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2554 ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ได้ตั้งศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วม ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบุรีรัมย์เปิดเผยสถานการณ์น้ำในจังหวัดบุรีรัมย์ยังปกติแต่ได้เตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยพร้อมช่วยเหลือประชาชนทันที นายพรเชษฐ์ แสงทอง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบุรีรัมย์เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าบุรีรัมย์ได้มีการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขอุทกภัยโดยการจัดตั้งศูนย์ป้องกันอุทกภัยโดยแจ้งไปยังอำเภอทุกแห่งในจังหวัดเตรียมความพร้อมในการรับมือหากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน พร้อมทั้ง จัดทำแผนแจ้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทราบถึงแนวทางปฏิบัติโดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่งในการเตรียมพร้อมและมีการประชาสัมพันธ์ข่าวสารผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียงและเสียงตามสายแจ้งให้ประชาชนรับทราบถึงสถานการณ์โดยทั่วกัน

มหาสารคาม

จังหวัดมหาสารคาม ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใน 4 อำเภอ คือ อำเภอเมืองมหาสารคาม เชียงยืน กันทรวิชัย และอำเภอโกสุมพิสัย ทำให้ต้องเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงขึ้นบนที่สูง ซึ่งน้ำชีที่ท่วมขังไร่นา ส่งผลให้หญ้าที่ใช้เลี้ยงสัตว์ขาดแคลน ทางปศุสัตว์จึงได้สำรองหญ้าแห้งไว้จำนวน 40 ตัน เพื่อเตรียมแจกจ่ายให้กับเกษตรกร

ยโสธร

วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2554ปริมาณน้ำจากจ.กาฬสินธุ์ ได้ไหลเข้าสมทบในพื้นที่จ.ยโสธร ทำให้น้ำในแม่น้ำชีเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เอ่อเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรในต.เขื่องคำและขุมเงิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เสียหายกว่า 1 หมื่นไร่ ถนนทางเข้าหมู่บ้านถูกน้ำท่วมสูงเกือบ 1 เมตร รถยนต์ไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ชาวบ้านต้องใช้เรือเป็นพาหนะเดินทางเข้าออกแทน ล่าสุดน้ำได้ไหลเข้าท่วมโรงเรียนบ้านคุยตับเต่า สูงกว่า 50 เซนติเมตร ทางโรงเรียนต้องสั่งปิดการเรียนชั่วคราวเป็นเวลา 10 วัน เพื่อความปลอดภัย

ร้อยเอ็ด

จังหวัดร้อยเอ็ดได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้ว 5 อำเภอ ประชาชนเดือดร้อน 75,200 คน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย จังหวัดให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน วันจันทร์ ที่ 22 สิงหาคม 2554 นายพิทยา กุดหอม ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า จากร่องมรสุมที่พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ฝนตกลงในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ปริมาณน้ำจากลำน้ำยังเพิ่มสูงขึ้น ท่วมพื้นที่ทางการเกษตรและบ้านเรือนได้รับความเสียหาย 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเสลภูมิ โพธิ์ชัย หนองพอก โพนทอง และอำเภอเมยวดี 31 ตำบล 301 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 75,200 คน 18246 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยจังหวัดร้อยเอ็ด ได้บูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชน เบื้องต้น นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมมอบหมายให้สำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด นำถุงยังชีพไปแจกจ่ายช่วยเหลือประชาชนที่อำเภอเสลภูมิ จำนวน 5,293 ชุด และอำเภอโพนทอง จำนวน 300 ชุด และอนุมัติจ่ายค่าทำศพเด็กชายพูลศักดิ์ พูดเพราะ จำนวน 25,000 บาท และนายบัว วิผาลา จำนวน 50,000 บาทซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว และได้จัดสรรงบประมาณลงไปในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว นอกจากนี้โครงการชลประทานจังหวัดร้อยเอ็ด ได้จัดหาเครื่องสูบน้ำ จำนวน 30 เครื่อง องค์การบริหารส่วนจังหวัด จัดหาเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด จัดหาเรือท้องแบบ จำนวน 6 ลำ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย สำหรับสิ่งสาธารณประโยชน์ พื้นที่ทางการเกษตร อยู่ในระหว่างสำรวจความเสียหาย ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือ หลังน้ำลด

ศรีสะเกษ

ที่บ้านซำขี้เหล็ก ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ได้ถูดพายุพัดร่วงหล่นราว 7,250 ลูกมูลค่าเสียหายกว่า 362,500บาทเนื่องจากวาตภัย วันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2554 ที่ บริเวณสนามกีฬาฟุตบอลโรงเรียนตรางสวาย ตำบลดองกำเม็ด อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ขณะนี้เกิดน้ำท่วมขังอยู่กว่า 30 เซนติเมตร เจิ่งนองเต็มทั่วบริเวณหน้าโรงเรียน สนามกีฬาใช้การไม่ได้ และหากเกิดฝนตกหนักมาอีกจะส่งผลให้น้ำไหลเข้าท่วมไปสู่อาคารเรียนที่สร้าง อยู่ติดพื้นดิน โดยก่อนหน้านี้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดฝนตกหนักมาตลอดสัปดาห์ นักเรียนต้องเปียกฝนมาโรงเรียน ขณะที่หลายคนครอบครัวให้หยุดเรียนเพราะฝนตกหนัก อาจจะส่งผลให้ลูกหลานตนเองเป็นไข้หวัดได้ จึงขอลาครูให้ลูกหลานหยุดเรียนก่อน ประกอบกับโรงเรียนก็ถูกน้ำท่วมเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ยังพบว่าท้องฟ้ายังเต็มไปด้วยเมฆหมอกของฝน และอาจจะตกมาอีกในช่วงบ่ายๆ เช่นทุกวัน ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนได้สั่งให้ครูเวรไดฝ้าระวังอยู่ตลอด และได้ให้ครูได้เก็บอุปกรณ์การเรียน การสอนขึ้นไว้ยังที่สูง โดยเก็บออกจากห้องเรียนที่ด้านล่าง ไปยังห้องเรียนที่อยู่ชั้นสองหมดแล้วเพื่อป้องกันน้ำท่วม และให้ถอดปลั๊กไฟของเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในการสอนออกให้หมด เพื่อป้องกันน้ำท่วมไฟฟ้าลัดวงจรได้ และ ในส่วนเกษตรกรที่มีฝูงปศุสัตว์ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกันจากน้ำท่วมสูงขึ้นในหลายพื้นที่ ทำให้ไม่มีที่เลี้ยงวัว ควาย จึงได้นำมาผูกเลี้ยงไว้ข้างถนนหลวงริมทาง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทั้งผู้สัญจรไปมา และเสี่ยงต่อฝูงปศุสัตว์ที่จะถูกรถยนต์เฉี่ยวชนได้ แต่ในเมื่อไม่มีทางเลือกในช่วงน้ำท่วมนี้ก็ต้องยอมเสี่ยงเอา และเชื่อว่าจะเป็นเช่นนี้อีกไม่นานเมื่อฝนหยุดตก และน้ำลดลง

สุรินทร์

อำนาจเจริญ

สถานการณ์น้ำท่วมในลำน้ำธรรมชาติ ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ
นายปิยะปัญญา ภู่ขวัญเมือง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดอำนาจเจริญ แจ้งว่า สถานการณ์น้ำในลำน้ำธรรมชาติ ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ มี 3 สาย คือ
- ลำน้ำโขง ที่อำเภอชานุมาน ระดับน้ำ 9.20 เมตร เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2554 ต่ำกว่ระดับตลิ่ง 3.80 เมตร เพิ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 จำนวน 0.20 เมตร ได้เกิดน้ำท่วมบริเวณ ปากลำห้วยทม ห้วยหินปูน ห้วยไผ่ ห้วยนาทัน ห้วยแก้วแมง และบริเวณพื้นที่ใกล้ตลิ่งลำน้ำโขงในเขต อำเภอชานุมาน มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ ประมาณ 600 ไร่
-ลำน้ำเซบาย ในเขตอำเภอเสนางคนิคมและอำเภอ เขตอำเภอหัวตะพาน หัวงานฝายลำเซบาย พนังลำเซบายสาย A รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบจากลำน้ำ ลำเซบาย ยังมีพื้นที่น้ำท่วม 10,000ไร่ จากพื้นที่ที่ท่วมทั้งหมด 27,000 ไร่
-ลำน้ำเซบก ที่อำเภอลืออำนาจ สะพานข้ามลำเซบกที่บ้านลืออำนาจถนนทางหลวงหมายเลข 212 ถนนชยากูร แก้มลิงหนองเลิงเป็ดและลำเซบก สะพานบ้านฟ้าห่วน ถึงบ้านเหล่าเลิง ถนนรอบเมืองอำเภอพนา สะพานห้วยจันลัน สะพานลำเซบก รวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากลำน้ำ ลำเซบก ยังมีพื้นที่ท่วมประมาณ 6,400 ไร่ จากพื้นที่ที่ท่วมทั้งหมด 18,480 ไร่
นายปิยะปัญญา ภู่ขวัญเมือง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดอำนาจเจริญ ยังกล่าวอีกว่า สรุปพื้นที่น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ประมาณ 17,000 ไร่ และโครงการชลประทานอำนาจเจริญ ได้จัดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 5 เครื่อง ติดตั้งระบายน้ำจากพื้นที่การเกษตรบริเวณแก้มลิงหนองยาง 5 เครื่อง เพื่อสูบระบายน้ำออกจากแก้มลิงลงสู่ลำเซบาย
นายปิยะปัญญาฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในช่วงฤดูฝน ด้วยความเป็นห่วงต้องขอเตือนพี่น้องประชาชนที่อยู่ใกล้ลำน้ำ ต้องระมัดระวังให้รีบขนย้ายสิ่งของต่างๆ เพราะปริมาณน้ำฝนในปีนี้มากกว่าทุกปี

กาฬสินธุ์

เขตอำเภอห้วยผึ้ง ตำบลคำบง อิทธิพลน้ำป่าจากเทือกเขาภูพานได้นำน้ำจำนวนมากไหลเข้าท่วมพื้นที่นาข้าวของเกษตรกรได้รับความเสียหายจำนวน 4 พันไร่ นอกจากนี้บริเวณคอสะพานยังเกิดการชำรุดด้วยอิทธิพลของน้ำป่า

ชัยภูมิ

26 สิงหาคม พ.ศ.2554สถานการณ์น้ำชีทะลักล้นตลิ่งยังคงหนุนสูงต่อเนื่องเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและนาข้าวเสียพื้นที่การเกษตรนับหมื่นไร่ในหลายพื้นที่ของเขตอ.หนองบัวแดงหนองบัวระเหว,บ้านเขว้า,จัตุรัส,เนินสง่าและ เขตรอยต่ออ.เมืองชัยภูมิ บางส่วนบริเวณต.บ้านค่ายหมื่นแผ้ว รวมทั้งด้านปริมาณน้ำป่าหลากบนเทือกเขาภูแลนคา ยังส่งผลให้ระดับน้ำล้นสันเขื่อนลำปะทาว เขตรอยต่ออ.แก้งคร้อ และอ.เมืองชัยภูมิ ไหลเข้าตัวเมืองเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ทั้ง 25 ชุมชน และต้องสั่งปิดโรงเรียนชั่วคราวรวมกว่า 7 แห่งมาตั้งแต่วานนี้

มุกดาหาร

20 สิงหาคม พ.ศ.2554 เกิดเหตุน้ำป่าไหลลงมาจากภูพานส่งผลให้น้ำท่วมนาข้าวบ้านเรือนเสียหายจำนวนมาก เกิดน้ำป่าไหลลงจากภูพานจนเอ่อเข้าท่วมชุมชนโคกสุวรรณ เขตเทศบาลเมืองมุกดาหารเป็นพื้นที่ไม่เคยถูกน้ำท่วมมาก่อน ซึ่งขณะนี้ได้ถูกน้ำท่วมจนนาข้าวจ่มใต้น้ำนับหมื่นไร่ บ้านเรือนราษฎรนับร้อยหลังคายังถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายจำนวนมาก และระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้น จนเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในตำบลผึ่งแดด อำเภอเมือง โดยเฉพาะชุมชนโคกสุวรรณ ในเขตุเทศบาลเมืองมุกดาหาร ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ รถจักยานยนต์ เป็นทรัพย์สินของชาวบ้าน ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากขนย้ายออกไม่ทัน จากที่น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมอย่างฉับพลัน
มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจำนวน 40
,809 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 47,562 ไร่ บ่อปลา 693 บ่อ ถนนเสียหาย 383 สาย ท่อระบายน้ำ 50 แห่ง ฝายน้ำจำนวน 10 แห่ง ส่วนตลาดอินโดจีน ในเขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร ซึ่งน้ำได้ท่วมบริเวณชั้นใต้ดิน มีพ่อค้าแม่ค้าได้รับความเดือดร้อนจำนวน 400 คน

นครพนม

หลายชุมชนในเขตเทศบาลเมืองนครพนมเกิดน้ำท่วมขัง สูงประมาณ 40 เซนติเมตร โดยเฉพาะชุมชนหน้าโรงพยาบาลนครพนม น้ำท่วมสูงถึง 40 เซนติเมตร น้ำเอ่อท่วมบ้านเรือนราษฎรหลายสิบหลัง บริเวณตลาดสดเทศบาลเมืองนครพนมน้ำข่วมขังประมาณ 25 ถึง 30 เซนติเมตร ส่งผลให้ประชาชนใช้บริการตลาดสดและโรงพยาบาลดังกล่าวไม่สะดวก อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม หลังเกิดฝนตกหนักทั้งวันด้วยอิทธิพลพายุหมุนนกเตน ส่งผลเกิดน้ำป่าทะลักลงมาจากเทือกเขาภูลังกาจำนวนมากเมื่อตอนใกล้สว่างวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 โดยกระแสน้ำไหลหลากท่วมบ้านเรือนประชาชนได้รับความเดือดร้อนนับ 100 หลัง ในหลายหมู่บ้านที่เส้นทางน้ำผ่าน เช่น บ้านไผ่ล้อม ต.ไผ่ล้อม หมู่ 1-5 บ้านพืชผล ต.นางัว โดนน้ำท่วมหนักที่สุดเกิดน้ำท่วมบ้านและถนนรอบหมู่บ้านชาวบ้านต้องขนของหนีน้ำกันกลางดึก ขณะที่นาข้าวเกษตรกรนับพันไร่ใต้เทือกเขาภูลังกาจมอยู่ใต้น้ำ เนื่องจากน้ำป่าระบายลงสู่น้ำโขงไม่ได้

อุบลราชธานี

น้ำจากแม่น้ำโขง ได้เอ่อล้นเข้าไปตามลำน้ำ สาขา ต่างๆ เข้าไปในที่ลุ่ม พร้อมเข้าท่วม ไร่ นา พร้อมทั้งผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านับ 1 พัน ไร่ ทำให้ต้นข้าวนาปีที่ได้ปักดำแล้วเสร็จใหม่ ๆ ต้องจมอยู่ใต้น้ำไร่มัน พร้อมทั้งต้นปาล์ม กว่า 100 ไร่จมอยู่ใต้น้ำเช่นเดียวกัน ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำโขง ก็ได้ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง วันละ 50 ถึง 100 เซนติเมตร

อุดรธานี

อุดรสรุปนกเต็นไร่นาน้ำท่วมเสียหายกว่า 1.4 แสนไร่ ทั้งจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ 14 อำเภอ 102 ตำบล 1,110 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 51,327 ครัวเรือน พื้นที่นาข้าวเสียหาย 143,809 ไร่ บ่อปลา 1,257 บ่อ ถนนเสียหาย 582 สาย  ถนนโพศรี ถนนศรีสุข และถนนประจักษ์ศิลปาคม ถนนอุดรดุษฎี จมอยู่ในน้ำทั้งสาย และน้ำยังท่วมต่อเนื่องไปถนนนิตโย หน้าตลาดสดหนองบัว และนอกจากนี้น้ำยังท่วมเข้าไปในตลาดสดเทศบาล 1 2 ด้วย โดยเฉพาะถนนโพศรี ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี มีน้ำท่วมสูงประมาณ ครึ่งเมตร บริเวณที่ได้รับผลกระทบที่หนักที่สุดอยู่ที่สี่แยกวัดโพธิสมภรณ์ ต่อเนื่องไปทางถนนเพาะนิยม หน้าโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี น้ำท่วมสูงจากพื้นถนนประมาณ 1 เมตร ทำให้มีรถเล็กและรถจักรยานยนต์เครื่องยนต์เสีย จำนวนมาก

หนองคาย

ผลกระทบจากพายุนกเตน ทำให้ จ.หนองคายน้ำท่วมหนักในรอบ 40 ปี ย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองถูกน้ำท่วมขังสูงกว่า 1 เมตร กินพื้นที่กว่า 50% คิดมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 10 ล้านบาท

บึงกาฬ

ระดับน้ำในแม่น้ำสงคราม สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล้นตลิ่งเข้าท่วม 3 หมู่บ้าน พื้นที่ตำบลดอนหญ้านาง อำเภอพรเจริญ บ้านเรือนถูกน้ำท่วมกว่า 200 หลัง นอกจากนี้ยังมีพื้นที่การเกษตร ถูกน้ำท่วมอีกกว่า 3 พันไร่

สกลนคร

พายุนกเต็นฝนถล่มจังหวัดสกลนครทั้งจังหวัด ทะเลสาบหนองหานน้ำเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ จ่อเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรหลายพันไร่ เตือนแม่โขงจ่อวิกฤตพื้นที่การเกษตรจังหวัดสกลนคร ได้รับผลกระทบน้ำท่วมแล้ว 9 อำเภอ สำหรับ อำเภอโพนนาแก้ว ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักที่สุด มีพื้นที่การเกษตรจมใต้น้ำหลายหมื่นไร่

เลย

ฝนตกที่หนักต่อเนื่องทำให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมบนเทือกเขาในอำเภอเชียงคาน จ.เลย น้ำได้ไหลจากตำบลเขาแก้ว และตำบลธาตุ เข้าท่วมบ้านศรีพัฒนา หมู่ 5 และบ้านจอมศรี หมู่ 8 ต.นาสี อำเภอเชียงคาน น้ำท่วมนาข้าวกว่า 1,000 ไร่ และบ่อปลาที่ชาวบ้านเลี้ยงกว่า 100 บ่อ ได้รับความเสียหาย ส่วนกระแสน้ำที่ไหลผ่าน ต.นาสี ได้ไหลเข้าท่วม ตลาดสามแยกบ้านธาตุ หมู่ 2 เทศบาลตำบลธาตุ ต.ธาตุ อำเภอเชียงคาน ริมถนนสายเลย-เชียงคาน ก.ม. ที่ 20 กระแสน้ำไหลเข้าท่วมร้านค้าที่ขวางทางน้ำได้รับความเสียหาย
กระแสน้ำยังเอ่อล้นท่วมทางสายบ้านธาตุ-ปากชม บริเวณ ก.ม. ที่ 5 บ้านผาพอด หมู่ 13 ต.ธาตุ อ.เชียงคาน จนเส้นทางขาด รถยนต์ขนาดเล็ก ไม่สามารถเดินทางผ่านไปมาได้ อำเภอด่านซ้าย อำเภอภูเรือ จ.เลย ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรเสียหายเป็นจำนวนมาก ที่บ้านนาข่า ต.ปากหมัน อ.ด่านซ้าย จ.เลย แม่น้ำหมันที่ไหลผ่านอำเภอด่านซ้าย และตำบลนาดี นาหอ ปากหมัน นาข่า ไหลบรรจบกับแม่น้ำเหือง ที่บ้านนาข่า ต.ปากหมัน ซึ้งเป็นแม่น้ำที่กั้นระหว่าง 2 หมู่บ้านไทย-ลาว ได้เกิดน้ำไหลหลาก กระแสน้ำแรง ทำให้น้ำเอ่อริมตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน บ้านข้าราชการครูโรงเรียนบ้านนาข่า ขยายเป็นวงกว้าง บางหลังน้ำท่วมจนเกือบมิดหลัง และพื้นที่การเกษตรข้าว ข้าวโพด ได้รับความเสียหายกว่า 1,000 ไร่

หนองบัวลำภู

ต.วังปลาป้อม อำเภอนาวัง ซึ่งเป็นจุดแรกที่รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยลิ้นควาย พบว่าปริมาณน้ำได้สูงขึ้นและเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ทำการเกษตรใน ต.วังปลาป้อม ในบริเวณริมลำน้ำพะเนียง เป็นบริเวณกว้างกว่า 200 ไร่ และน้ำในลำน้ำพะเนียงได้เอ่อเข้าท่วมพื้นที่ทำการเกษตรตลอดสองฝากของลำน้ำที่เป็นที่ลุ่ม ซึ่งทางการออกเตือนภัยน้ำท่วมทันที

กรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานครประสบกับวาตภัย จนเป็นเหตุให้เสาไฟฟ้าล้มและหม้อแปลงระเบิดในบางพื้นที่ส่งผลให้ไฟฟ้าดับราว 2 ชั่วโมงขึ้นไป
โดยน้ำเริ่มท่วมในบริเวณถนนพหลโยธินช่วงอนุสรณ์สถานราว 20 ซม. ในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 และพบเพิ่มเติมในพื้นที่อื่น ๆ อีกทั้งมีไฟฟ้าดับในบางพื้นที่ในระยะเวลาไม่มากนัก การถ่ายรูปของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 24 ต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554 พายุไต้ฝุ่นนันมาดอล และพายุหมุนตาลัส ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในกรุงเทพมหานครหลายพื้นที่ ภัยจากวาตภัยได้ส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับที่เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์สาขารัชโยธินไฟฟ้าดับในเวลา 19.55 น. และไฟฟ้าดับในบางพื้นที่ของเขตจตุจักรในเวลา 19.55 น. ส่วนวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554 ภัยจากวาตภัยได้ส่งผลไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ ซอยสุขุมวิท 62/1 สุขุมวิท 67 ถนนเกษตรนวมินทร์ ซอยพระราม 2 25 ซอยรามอินทรา 71 ซอยสวนผัก 29 และ 34 ซอยลาดพร้าว 101 ซอยหัวหมาก 9 และ 11 ซอยสายไหม 81 ซอยโปโล ซอยเพชรเกษม 20 แยก 4
ที่ซอยเอกชัย 16 และตลาดวงศกร เกิดเหตุหม้อแปลงระเบิด ศูนย์บริการผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวงได้ประกาศทางโทรศัพท์สายด่วน 1130 ว่าจะดำเนินการซ่อม 3 ชั่วโมงนับจาก 18.30 น. ซอยรัชดาภิเษก 42 แยก 4-1เกิดเหตุการณ์เสาไฟฟ้าล้มการไฟฟ้า โดยศูนย์บริการผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวงได้ประกาศทางโทรศัพท์สายด่วน1130จะดำเนินการซ่อม 4 ชั่วโมงนับจาก 18.30 น. ต่อมาเปลี่ยนประกาศเป็นซ่อมทั้งคืน โดยกำหนดแล้วเสร็จในเวลา 05.00 น. ของวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554 เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องปักเสาไฟฟ้าต้นใหม่และรื้อเสาไฟฟ้าต้นเก่าออกและพาดสายไฟฟ้าใหม่อีกทั้งซอยเป็นซอยแคบถนนเลนเดียวจึงทำงานอย่างยากลำบากและร้านค้าภายในซอยได้รับความเสียหายจากเสาไฟฟ้าที่ล้มลงมาทางตำรวจได้อำนวยความสะดวกด้วยการปิดเส้นทางจราจรที่สามารถเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าวในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ทำงานได้แก่พื้นที่ปากซอย(ซอยรัชดาภิเษก 36 42 44)(ซอยพหลโยธิน 28 30) พื้นที่ภายในซอย(ลาดพร้าววังหิน 79) (ซอยเสนานิคม 1) ส่งผลให้การจราจรติดขัดเนื่องจากตัวซอยเป็นทางลัดระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนรัชดาภิเษก ถนนลาดพร้าว วังหิน ถนนเสนานิคม 1
                                                                       จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

จะเห็นได้ว่ามีพี่น้องชาวไทยที่กำลังได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมากในการเกิดอุทกภัยในครั้งนี้   และอยากให้ทุกคนที่สามารถช่วยเหลือชาวไทยด้วยกันได้  แม้เพียงเล็กน้อยก็จะทำให้ผู้เดือดร้อนทุกคนบรรเทาความเดือดร้อนลงได้บ้าง เราเชื่อเสมอว่าคนไทยทุกคนไม่แล้งน้ำใจ ขอขอบคุณแทนชาวไทยทุกคนที่กำลังประสบปัญหาอุทกภัยในครั้งนี้ และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนจงสู้ สู้

1 ความคิดเห็น: